ผู้บริหารบางจากฯ ร่วมแชร์แผน ขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Net Zero ในงาน Sustainability Forum 2024

 

นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธาน Carbon Markets Club ร่วมเสวนา Net Zero Milestone Plan ร่วมกับ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในงานสัมมนา Sustainability Forum 2024
นางกลอยตา กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลในการดำเนินธุรกิจของบางจากฯ โดยมีพื้นฐานจากการรักษาสมดุลระหว่างคุณค่าและมูลค่า สู่การรักษาสมดุลของความท้าทายด้านพลังงาน
3 ประการ (Energy Trilemma) เพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 ตลอดจนการรักษาสมดุลในการเป็นองค์กรที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีการกำกับดูแลธุรกิจที่ดี (ESG) มาตลอดระยะเวลาการดำเนินงานเกือบ 40 ปี โดยให้ความสำคัญกับการนำ ESG มาอยู่ในธุรกิจหรือการทำให้ ESG กลายเป็นธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืน อาทิ ปั๊มสหกรณ์หรือปั๊มชุมชน เมื่อ 33 ปีที่แล้ว จนถึงธุรกิจอากาศยานเชื้อเพลิงยั่งยืนจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว SAF ในปัจจุบัน

 

บางจากฯ ตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 โดยกำหนดแผนงาน BCP316 NET ครอบคลุมการปรับปรุงประสิทธิภาพต่างๆ ในกระบวนการผลิต การลงทุนในนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การดูดซับคาร์บอนด้วยธรรมชาติ การเพิ่มสัดส่วนธุรกิจสีเขียว รวมถึงการสร้างระบบนิเวศสำหรับสังคมคาร์บอนต่ำ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทางธุรกิจทุกภาคส่วน

โดยบางจากฯ ได้วางกลยุทธ์ในการเติบโตใน 5 ปีข้างหน้า ด้วยการลงทุนในธุรกิจคาร์บอนต่ำ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 อาทิ ธุรกิจด้านการบริหารจัดการพลังงาน เทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดแห่งอนาคต เช่นการศึกษาพลังงานไฮโดรเจน เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage – CCUS) เป็นต้น ขณะเดียวกัน บางจากฯ ได้สร้างระบบนิเวศเพื่อไปสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ Net Zero Ecosystem ผ่านธุรกิจต่างๆ อาทิแพลตฟอร์มสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie บริษัท BSGF ดำเนินธุรกิจ SAF บริษัท BTSG ดำเนินธุรกิจสถานีบริการก๊าซธรรมชาติเหลว บริษัท BFPL บริหารจัดการขนส่งเชื้อเพลิง ฯลฯ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงการก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 750 รายทั้งประเทศองค์กรและบุคคล และ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 ได้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน RECs ผ่าน Marketplace ในเว็บไซต์ของ Carbon Markets Club คิดเป็นปริมาณรวมเกือบ 1.3 ล้านตัน หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ประมาณ 150 ล้านต้น นอกจากนี้ Carbon Markets Club ยังมีเครื่องมือประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ให้สมาชิกได้ใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ทราบถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกจากภารกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร สามารถวางแผนจัดการในการปล่อย ลด และชดเชยเพื่อไปสู่การตั้งเป้า Net Zero ในอนาคต

 

 

 

 

 

Visitors: 14,181,983