อพท. สร้างต้นแบบการพัฒนาพื้นที่พิเศษอย่างยั่งยืน
อพท. คว้า 2 รางวัล “ดีเด่น และ ดี” ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการ รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ในประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม จากผลงาน การส่งเสริมสนับสนุนพลังประชาชนและเครือข่ายทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวตามภารกิจจนผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ สร้างฐานรากความยั่งยืนแก่แหล่งท่องเที่ยวของไทย
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวในงานเสวนาวิชาการและพิธีรับมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 จัดโดยสำนักงาน ก.พ.ร. ณ ห้องรอยัลจูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพคเมืองทองธานี ว่า อพท. มุ่งมั่นดำเนินงานตามปรัชญาการทำงานแบบมีส่วนร่วม Co-creation & Co-own ด้วยเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแบบสมดุลในพื้นที่พิเศษ มาตลอด 21 ปี โดยมีภาคีเครือข่ายพันธมิตรและประชาชนในพื้นที่ ร่วมดำเนินงานตามกระบวนการ มีส่วนร่วมตามบริบทของการพัฒนาตั้งแต่ระดับการให้ข้อมูล (Inform) การให้คำปรึกษาหารือ (Consult) การเข้ามามีบทบาท (Involve) และในระดับความร่วมมือ (Collaborate) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาที่มีนัยสำคัญหรือผลกระทบสูง (High Impact) กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่นำไปสู่ความสำเร็จ เป็นที่มาของ 2 รางวัลแห่ง การบริหารงานอันทรงเกียรติที่ ชาว อพท. ภาคภูมิใจนี้ เริ่มจากรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effectiveness of People Participation) "ระดับดีเด่น" จากผลงาน “การขับเคลื่อนเมืองเชียงคานสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ด้วยเรื่องราวการดำเนินงานผ่านกิจกรรม “แปลงมุมคิด GSTC สู่วิถีเชียงคาน” ขับเคลื่อนเมืองเชียงคาน จังหวัดเลย สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือกับเทศบาลตำบลเชียงคาน หน่วยงานทั้งระดับจังหวัดและพื้นที่ และ อพท. นำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) มาเป็นเครื่องมือ สร้างฉันทามติร่วมกันในการพัฒนาและแก้ไขประเด็นปัญหาที่สำคัญโดยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม จำนวนอย่างน้อย 3 ประเด็นในการจัดการความยั่งยืน ได้แก่ (1) การฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมการใส่บาตรข้าวเหนียว (2) การแก้ไขปัญหาเชียงคานไม่ตรงปก และ (3) ประเด็นการจัดการขยะ ตลอดจนมีแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชียงคานอย่างยั่งยืน ซึ่งเกิดจากการสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริม องค์ความรู้ให้องค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น เกิดกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่เชียงคานที่เข้มแข็ง ในรูปแบบองค์กรจัดการแหล่งท่องเที่ยว (DMOs) สู่การปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมและยอมรับจากเยาวชน ชุมชน ประชาคมและหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ ดำเนินการครอบคลุมการบริหารจัดการความยั่งยืน การเพิ่มผลประโยชน์และลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ-สังคม ด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนอย่างบูรณาการแบบมีผลสำเร็จระดับสากลและทำให้เชียงคานได้รับการรับรองสถานะความยั่งยืน Green Destinations Silver Award 2024 แห่งแรกในอาเซียน
ส่วนอีกหนึ่งรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม "ระดับดี" จากผลงาน "การแก้ไขปัญหาระบบนิเวศ วัดตระพังทอง เพื่อปกป้องโบราณสถานเมืองมรดกโลกสุโขทัย" เกิดจากความร่วมมือทุกภาคส่วนของพื้นที่พิเศษฯสุโขทัย โดยมีท่านนายกเทศมนตรีตำบลเมืองเก่าเป็นแกนนำ และ อพท. เข้าร่วมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูระบบนิเวศ ปรับปรุงภูมิทัศน์และทัศนียภาพ และร่วมเผยแพร่แนวทางการรักษาสมดุลยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกให้กับชุมชน เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีความตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของระบบนิเวศ รวมทั้งความเปราะบางของพื้นที่ที่จะนำไปสู่ผลกระทบในวงกว้าง โดยดำเนินการสูบน้ำเพื่อปรับปรุงตลิ่งและย้ายปลาดุกรัสเซียสายพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานออกไปยังแหล่งเพาะเลี้ยงใหม่ สร้างสะพานไม้ตามแบบดั้งเดิมด้วยเงินบริจาคตามจิตศรัทธาของประชาชนและนักท่องเที่ยว กลายเป็นสิ่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยวได้ จากความร่วมมือดังกล่าวส่งผลให้ระบบนิเวศของสระน้ำวัดตระพังทองได้รับการฟื้นฟู รวมทั้งภูมิทัศน์และทัศนียภาพกลับมาสวยงามดังเดิมสมกับการเป็นแหล่งมรดกโลกและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่เขตมรดกโลกไปด้วยพร้อมกัน
นอกจากการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่เป็นภารกิจหน้าที่ที่ อพท. มุ่งมั่นพัฒนาเป็นต้นแบบในหลายๆ พื้นที่พิเศษแล้ว การดำเนินงานแก้ไขปัญหาโดยกระบวนการมีส่วนร่วม ยังก่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในกระบวนการดำเนินงาน โดยความร่วมมือกันพันธมิตรทั้งในพื้นที่พิเศษและหน่วยงานภาคีที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อาทิ กลไกทางความคิดโดยการใช้ผลการวิจัยและข้อมูลทางวิชาการ เพื่อค้นพบสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง หรือกระบวนการทำงานที่ต้องสร้างความเข้าใจกับชุมชน เยาวชน รวมถึงการสื่อสารไปยังสาธารณะและนักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ระหว่างการปล่อยปลา และความเชื่อ รวมถึงการลดความขัดแย้งกรณีที่วิธีการจัดการเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ตลอดจนการวางแนวทางในการจัดทำแผนการบริหารพื้นที่ต่อเนื่องร่วมกัน เพื่อให้วัฒนธรรมในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และสังคมเติบโตร่วมกันได้อย่างสมดุล ตามปรัชญาการดำเนินงานที่ อพท. มุ่งหวังได้ต่อไป ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวด้วยรอยยิ้ม