ธ.ก.ส. โอนเงินไร่ละ 1,000 บาท 3 วันแรก 47 จังหวัดถึงมือชาวนาแล้ว 2.63 ล้านราย
ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโอนเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย 3 วันที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้โอนเงินให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เรียบร้อยแล้วรวม 47 จังหวัด 2.63 ล้านราย เป็นจำนวนเงิน 20,792 ล้านบาท พร้อมเดินหน้ายกระดับผลิตภัณฑ์เกษตรสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง และดึงจุดเด่นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรมาสร้างแบรนด์ท่องเที่ยวชุมชนที่มีเอกลักษณ์ ภายใต้โมเดล BAAC Agro-Tourism
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานรวมถึงลูกค้า ธ.ก.ส. ในพื้นที่สาขาปางมะผ้า และสาขาแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งถือเป็น 1 ใน 17 จังหวัดแรกที่เกษตรกรลูกค้าของธนาคารได้รับการโอนเงินตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 10 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอการดำรงชีวิต ลดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกข้าว และส่งเสริมให้การผลิตข้าวมีความคุ้มค่าและเพิ่มกำไร ตั้งเป้าหมายเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 4.61 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 37,414 ล้านบาท โดย 3 วันที่ผ่านมา
(16-18 ธันวาคม 2567) ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการโอนเงินให้แก่เกษตรกรตามข้อมูลรายชื่อจากกรมส่งเสริมการเกษตร ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เรียบร้อยแล้ว 47 จังหวัด 2.63 ล้านราย
เป็นจำนวนเงิน 20,792 ล้านบาท ส่วนวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 ธ.ก.ส. จะดำเนินการโอนเงินให้กับเกษตรกร
ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จำนวน 8 จังหวัด 1.40 ล้านครัวเรือน วงเงิน 11,822 ล้านบาท และวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2567 จะโอนให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ จำนวน 22 จังหวัด 1.56 แสนครัวเรือน วงเงิน 1,303 ล้านบาท ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง หรือข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชี ผ่านบริการ BAAC Connect ทาง Line: BAAC Family และยังได้ติดตามการให้บริการสินเชื่อเงินด่วนคนดี อสม. กึ่งแสน และ อสส. เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กับลูกค้ารายเดิมที่กู้เงินภายใต้โครงการสินเชื่อเงินด่วนคนดี ที่ชำระเงินตรงงวดครบ 4 เดือน สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องในการลงทุนประกอบอาชีพ วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 50,000 บาท ผ่อนชำระ 600 บาทต่อเดือน 123 งวด โดยจ่ายสินเชื่อให้กับสมาชิกอสม. และ อสส. ไปแล้วกว่า 254,000 ราย
นอกจากนี้ ในระหว่างการลงพื้นที่ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่สูง โดยเป็นศูนย์กลางแห่งการส่งเสริมองค์ความรู้ครบวงจร ทั้งทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนที่สูง อาทิ ด้านการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ท้องถิ่นและเฟิร์นการผลิตไม้ผลและไม้ยืนต้น การบริหารจัดการน้ำ การประมงบนพื้นที่สูง และการจัดการระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อสนับสนุนให้คนในชุมชนในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถสร้างอาชีพและสร้างรายได้ด้วยการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างสมดุล ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความกินดีอยู่ดีแบบพอเพียง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
จากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมชมหมู่บ้านนาปลาจาด หนึ่งในชุมชนอุดมสุข ต้นแบบชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งให้บริการที่พักแบบโฮมสเตย์ พร้อมจัดโปรแกรมท่องเที่ยววิถีชุมชน ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาสัมผัสวิถีและวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนชุมชนแบบใกล้ชิด เช่น การชมไร่กระเทียม ร่วมกิจกรรมการปลูกกระเทียม และการแปรรูปกระเทียม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ซึ่งเป็นอาชีพและรายได้หลักของคนในหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีการเพาะเลี้ยงปลาพลวง เลี้ยงไก่ดำ และปลูกพืชเศรษฐกิจ ด้วยวิธีเกษตรผสมผสาน ได้แก่ ข้าวและถั่วเหลือง ซึ่งในกระบวนการผลิตได้มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากมูลสัตว์ ซึ่งถือเป็นการลดปริมาณของเสียและบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชนอย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ ยังมีโรงสีข้าวพลังน้ำแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ใช้พลังน้ำจากแม่น้ำแม่สะงีที่ไหลผ่านหมู่บ้านในการสีข้าว อันเป็นการลดต้นทุนในการผลิตและการประยุกต์ใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทั้งนี้ หมู่บ้านนาปลาจาดยังเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษากระบวนการผลิตวิถีเกษตรผสมผสานและการแปรรูปผลผลิต เพื่อสร้างงานและรายได้เสริม รวมถึงเป็นจุดอบรมโครงการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพให้กับลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อยอีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเดินทางมาเยี่ยมชมและสัมผัสการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ที่ หมู่บ้านนาปลาจาด หมู่ที่ 4 ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน