คปภ.จัดประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย ครั้งที่ 1/2568 ชี้แจงทำความเข้าใจหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ Copayment ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาประกันภัย กรณีครบรอบปีกรมธรรม์
นายชูฉัตร ประมูลผล
เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย
ประจำปี 2568 เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมจ่าย
(Copayment) ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาประกันภัย กรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยของสัญญาประกันภัยสุขภาพ
โดยมีผู้แทนจากหน่วยงาน ประกอบด้วย สภาธุรกิจประกันภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย
สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เข้าร่วมประชุม ณ
ห้องประชุมสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 1 สำนักงาน คปภ. (รัชดาภิเษก)
สำหรับการประชุมครั้งนี้
ได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) ในเงื่อนไขการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย
ซึ่งการร่วมจ่ายจะมีผลบังคับใช้เฉพาะในปีถัดไป หากผู้เอาประกันภัยเข้าหลักเกณฑ์
ดังนี้
กรณีที่ 1 การเคลมเป็นผู้ป่วยใน ด้วยกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple
Disease) และไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ให้ต้องรักษาตัวแบบผู้ป่วยใน
และมีการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง
และมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนรวมตั้งแต่ 200%
กรณีที่ 2 การเคลมเป็นผู้ป่วยใน ที่ไม่รวมโรคร้ายแรง และการผ่าตัดใหญ่
ที่มีการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง
และมีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนรวมกันตั้งแต่ 400% โดยในแต่ละกรณีให้กำหนดสัดส่วน
Copayment ได้สูงสุดไม่เกิน 30%
และหากเข้าทั้งกรณีที่ 1 และกรณีที่ 2 กำหนดสัดส่วน
Copayment ได้สูงสุดไม่เกิน 50% ของค่ารักษาที่ได้รับความคุ้มครองในปีถัดไป
ซึ่งการกำหนดสัดส่วนดังกล่าวเป็นการกำหนดเป็นขั้นสูงสุด
การจะกำหนดสัดส่วนเป็นเท่าใดในแต่ละกรณีจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละบริษัท
โดยสำนักงาน คปภ. จะทำหน้าที่กำกับการคิดเบี้ยประกันภัยสุขภาพ
และดูแลเงื่อนไขการร่วมจ่ายให้มีความเป็นธรรม
โดยที่ประชุมเห็นชอบให้บริษัทประกันภัย
สามารถเพิ่มเงื่อนไขการมีส่วนร่วมจ่ายได้ใน 3 กรณี
เพื่อควบคุมพฤติกรรมการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง
ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดการใช้สิทธิในการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลโดยมิชอบ นอกจากนี้
ได้หยิบยกประเด็นเรื่องการสื่อสารประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับ Copayment เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการ อย่างต่อเนื่อง
ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการร่วมกันโดยใช้ช่องทาง Social Media ต่าง ๆ ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ
Copayment อย่างถูกต้องและทั่วถึง ควบคู่กับการปรับรูปแบบการสื่อสารโดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย
นอกจากนี้ จะต้องสื่อสารไปยังตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิตให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
และไม่นำเสนอข้อมูลที่ ไม่ถูกต้องแก่ประชาชน หากตรวจพบว่ากระทำ อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิตได้
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะนำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากที่ประชุมมาปรับใช้ในการดำเนินงาน
เพื่อให้การควบคุมการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลและการมีส่วนร่วมจ่าย (Copayment)
มีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในระยะยาวต่อไป