กสิกรไทย ครองตำแหน่งในดัชนี DJSI ต่อเนื่อง 9 ปีซ้อน แบงก์แรกของไทย
ธนาคารกสิกรไทยครองตำแหน่งในดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ ประจำปี 2567 หรือ Dow Jones
Sustainability Indices (DJSI) 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 เป็นธนาคารแรกของไทย ทั้งในระดับโลก (World) และกลุ่มตลาดเกิดใหม่
(Emerging Markets) พร้อมเดินหน้าเชื่อมต่อภาคส่วนสำคัญในระบบนิเวศ
เพื่อส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับทุกฝ่าย
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยมีเป้าหมายในการเป็นสถาบันการเงินที่ขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน
มุ่งมั่นเป็นพันธมิตรที่วางใจได้ สร้างและส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ทุกคน
บนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน โดยได้ผสานแนวคิด ESG เข้ากับทุกมิติในการดำเนินธุรกิจ
ดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม พร้อมให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม บนหลักธรรมาภิบาลที่ดีและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารผู้นำด้าน ESG ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้วยการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
โดยล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์
ประจำปี 2567 หรือ Dow Jones
Sustainability Indices (DJSI) 2024 ทั้งในกลุ่มดัชนีระดับโลก DJSI
World และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ DJSI Emerging Markets เป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน (ปี 2559-2567)
เป็นธนาคารแห่งแรกของไทยและภูมิภาคอาเซียน จากการประเมินผลการทำงานทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม
สังคม และธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารสามารถรักษามาตรฐานไว้ได้อย่างต่อเนื่อง
โดยในช่วงปีที่ผ่านมาธนาคารมีผลการดำเนินงานบนหลัก ESG ที่สำคัญ ดังนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม
ธนาคารกสิกรไทยได้ประกาศยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate
Strategy) 3 ด้าน ได้แก่ 1. Green Operation การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานภายในของธนาคาร
(Scope 1 และ 2) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2573 2. Green Finance การปล่อยสินเชื่อรวมถึงการลงทุนเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านและ
3. Beyond Banking เช่น Climate Solutions การสร้างโซลูชันเพื่อการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม และ Carbon
Ecosystem การเชื่อมต่อระบบนิเวศคาร์บอน
เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านอย่างครบวงจรในทุกมิติที่เป็นมากกว่าบริการทางการเงิน
ธนาคารได้เดินหน้าทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นธนาคารที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากการดำเนินงานของธนาคาร
(Scope 1 และ 2)
เป็นศูนย์ภายในปี 2573 โดยในปี 2565 - 2567 ได้เปลี่ยนรถยนต์ของธนาคารเป็นรถไฟฟ้า 297 คัน
และรถไฮบริด 552 คัน พร้อมติดตั้งแผงโซลาร์ในอาคารสำนักงานหลักครบ
100% และดำเนินการติดตั้งที่สาขาแล้ว 83 สาขา รวมทั้งมีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และได้รับการรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
(องค์การมหาชน) 7 ปีต่อเนื่อง (2561-2567)
สำหรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอ (Scope 3) ธนาคารได้จัดทำแผนกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม
(Sector Decarbonization Strategy) แล้ว จำนวน 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
กลุ่มเหมืองถ่านหิน กลุ่มซีเมนต์ กลุ่มอะลูมิเนียม และกลุ่มยานยนต์ โดยเข้าไปทำงานอย่างใกล้ชิดกับธุรกิจในอุตสาหกรรมหลักเหล่านี้
เพื่อช่วยวางแผนงานด้วยเครื่องมือและโซลูชั่นแบบเจาะลึกรายธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้ทันกับโลก ที่หมุนอย่างรวดเร็ว
สอดรับกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมทั้งคว้าโอกาสที่เกิดขึ้น
ธนาคารตั้งเป้าสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing (Loan) and Investment)
1-2 แสนล้านบาท ภายในปี 2573 โดยระหว่างปี 2565-2567
(ข้อมูล ณ เดือนกันยายน) ธนาคารได้ส่งมอบเม็ดเงินเพื่อความยั่งยืนไปแล้ว
102,742 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อ Green Loans การให้ Transition Finance เพื่อสนับสนุนกิจการในการดำเนินงานเพื่อการเปลี่ยนผ่าน
การออก Sustainability-linked Loan
รวมทั้งการจัดสรรเงินลงทุนในธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดย
บีคอน วีซี ผ่าน Beacon Impact Fund และการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนไปสนับสนุนธุรกิจที่คำถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมอีกด้วย
นอกจากนี้ ธนาคารได้จัดตั้งบริษัท คอปฟิฟตี้ จำกัด (KOP50)
บริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร เพื่อริเริ่มโครงการสร้าง Sustainable
Ecosystem ที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย KClimate 1.5 นำเสนอโซลูชั่นด้านสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร
KEnergy+ สนับสนุนระบบนิเวศสีเขียวที่ยั่งยืนในมิติพลังงาน
ผ่านการส่งเสริม EV Bike Ecosystem ด้วยโครงการ "WATT's
Up" ซึ่งเป็น e-Marketplace Platform ให้เช่าจักรยานยนต์ไฟฟ้า
และ Creative Climate Research Center (CCRC) ศูนย์รวมความรู้และนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
ด้านสังคม ธนาคารให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน
การเข้าถึงทางการเงิน และการส่งเสริมวินัยทางการเงิน บนพื้นฐาน Responsible
Lending ควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงิน สิ่งแวดล้อม และทักษะต่าง
ๆ แก่ผู้ด้อยโอกาส 59,250 คน และให้ความรู้ด้าน Cyber
Security สื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของธนาคาร เข้าถึงผู้อ่าน 17 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้
ธนาคารได้พัฒนาบริการเพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้แก่คนไทยในวงกว้าง
รวมถึงให้การสนับสนุนบริการที่ไม่ใช่ทางการเงินและส่งเสริมความเป็นอยู่ทางการเงินของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส
และธนาคารได้ดำเนินโครงการ AFTERKLASS แพลตฟอร์มที่ให้ความรู้ทางการเงินที่ช่วยยกระดับทักษะด้านการเงิน
อาชีพ และการเรียนรู้ ที่ตอบสนองความต้องการของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานและสังคม
ภายใต้การดำเนินงาน ที่เคารพสิทธิมนุษยชน
ส่งเสริมความหลากหลายและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกท่าน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
และการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าอย่างเหมาะสม
ด้านธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ ธนาคารดำเนินการอย่างต่อเนื่องในด้านจรรยาบรรณทางธุรกิจ
สอดคล้องกับมาตรฐานและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ทั้งของประเทศไทยและระดับสากล
มีการเปิดเผยผลงานของบริษัทที่มีมาตรฐาน
การบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยของสารสนเทศ
ควบคู่กับการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยธนาคารมีการประเมินและบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
ครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ESG และ Climate
Risk
บริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของธนาคารให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาความยั่งยืน
โดยการประเมิน ESG คู่ค้า และการจัดทำจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า
เพื่อสื่อสารให้คู่ค้าของธนาคารนำไปเป็นแนวปฏิบัติ
รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบัน นอกจากนี้ การปล่อยสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไปของธนาคารในปี
2567 ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาประเมินความเสี่ยงด้าน ESG
ครบทั้ง 100%
นางสาวขัตติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การครองตำแหน่งดัชนี DJSI เป็นปีที่
9 ติดต่อกันของธนาคาร
เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจที่สร้างการเติบโตควบคู่กับการรักษาสมดุล
เพื่อส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ธนาคารกสิกรไทย พร้อมเป็นจุดเชื่อมต่อและประสานความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ
ลูกค้า ผู้กำกับดูแล ผู้กำหนดนโยบาย
องค์กรแหล่งความรู้และนวัตกรรม ตลอดจนภาคการเงินและตลาดทุน บูรณาการศักยภาพต่าง ๆ นำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย
เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ สร้างสมดุลให้เศรษฐกิจ
สังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง
พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม รวมถึงคว้าโอกาสที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน