ธ.ก.ส. เดินหน้ามาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว วงเงินรวม 50,000 ลบ.

ธ.ก.ส. พร้อมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลผ่านมาตรการรักษาเสถียรภาพข้าว ปีการผลิต 2567/68 ตามมติ ครม. กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินรวมกว่า 35,000 ล้านบาท เพื่อป้องกันผลผลิตข้าวเปลือกล้นตลาดและส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางจนกว่าจะถึงช่วงที่ขายได้ราคาดี โดยรัฐบาลชำระดอกเบี้ยแทนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท สนับสนุนเงินทุนให้สถาบันเกษตรกรในการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกร หรือการนำผลผลิตมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อจำหน่ายในตลาด โดยสถาบันฯ ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลและ ธ.ก.ส. รับชำระดอกเบี้ยแทน พร้อมสนับสนุนค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกอีก 1,500 บาทต่อตัน ทั้ง 2 โครงการ ตั้งเป้ารองรับปริมาณข้าวเปลือกรวม 4.5 ล้านตัน

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ตามที่การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตรวมทั้งประเทศกว่า  30 ล้านตันข้าวเปลือกนั้น และล่าสุดในวันนี้ (4 ธันวาคม 2567) ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ที่มี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการ ธ.ก.ส. มีมติเห็นชอบให้ธ.ก.ส. ขับเคลื่อนงานสนับสนุนนโยบายรัฐบาลผ่านสินเชื่อ 2 โครงการ ได้แก่ 1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก
นาปี ปีการผลิต 2567/68 วงเงินรวมกว่า 35,000 ล้านบาท
เกษตรกรกู้ได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรและชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยเกษตรกรและสถาบัน เกษตรกรไม่ต้องชำระดอกเบี้ย เนื่องจากรัฐบาลรับภาระในการชำระดอกเบี้ยแทน เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตข้าวเปลือกล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ รวมถึงเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีเงินหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว และรองรับปริมาณข้าวเปลือกจากท้องตลาด 3 ล้านตัน โดยมีประเภทข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา)  ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานีและข้าวเปลือกเหนียว  

สำหรับคุณสมบัติผู้กู้ ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2567/68  กับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือสถาบันเกษตรกรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานราชการและรับรวบรวมข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 เช่น สหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หรือศูนย์ข้าวชุมชน เป็นต้น โดยข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีคุณสมบัติเป็นข้าวเปลือกที่มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกิน ร้อยละ 2 และสีได้ต้นข้าวไม่ต่ำกว่า 20 กรัม กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด 12,500 บาท/ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด 11,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 9,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือก ปทุมธานี 10,000 บาท/ตัน และข้าวเปลือกเหนียว 10,000 บาท/ตัน

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกให้อีก 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรเก็บข้าวเองได้รับ 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ
500 บาทต่อตัน และสถาบันฯ จะได้รับ 1,000 บาทต่อตัน ระยะเวลาจัดทำสัญญา ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 กรณีภาคใต้จัดทำสัญญาได้จนถึง 31 กรกฎาคม 2568 สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อย สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีได้ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

 2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 เป้าหมายรวบรวมข้าวเปลือก 1.5 ล้านตัน กรอบวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้แก่สหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด สำหรับรับซื้อและรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป รวมถึงการนำผลผลิตไปแปรรูปจำหน่าย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกในตลาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวงเงิน
แบ่งตามประเภทผู้กู้และศักยภาพการทำธุรกิจ ดังนี้ สหกรณ์การเกษตร/ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร วงเงินแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกร วงเงินแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชน วงเงินแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยสถาบันฯ ชำระดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลและ ธ.ก.ส. รับหน้าที่ชำระแทนสถาบันเกษตรกร ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 กันยายน 2568

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ยังได้มีมติเห็นชอบให้ขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 (โครงการไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและส่งเสริมให้เกษตรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ลดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกข้าว ส่งเสริมให้การผลิตข้าวมีความคุ้มค่าและเพิ่มผลกำไร โดยมีเป้าหมายเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับประโยชน์ประมาณ 4.61 ล้านครัวเรือน วงเงิน 37,414 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ได้รับข้อมูลทะเบียนรายชื่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว ธ.ก.ส. จะตรวจสอบข้อมูลและโอนเงินให้เกษตรกรในลำดับถัดไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศหรือ Call Center 02 555 0555

 

 

 

 

Visitors: 14,167,699