กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โชว์ผลงานครึ่งแรกปี 2567 กำไรสุทธิ 891 ล้านบาท
กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี
2567 กำไรสุทธิ 891
ล้านบาท เดินหน้ารุกสินเชื่อ SME และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน
ด้านสิ่งแวดล้อม (Green Transition Loan)
นายฉี ชิง-ฟู่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป
จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank กล่าวว่า
เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ขยายตัวต่อเนื่องเพียงเล็กน้อยจากการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ดี การลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนชะลอลงตามการอนุมัติงบประมาณของภาครัฐที่มีความล่าช้าและการส่งออกที่ฟื้นตัวช้า
สำหรับเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น
การลงทุนภายในประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น
กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์
แอนด์ เฮ้าส์ ยังคงให้ความสำคัญกับ Sustainable
Banking เพื่อมุ่งสู่ การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน
มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากการดำเนินงานของธุรกิจธนาคาร
รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมและการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปรับตัว
สำหรับธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของธนาคารแห่งประเทศไทย และปี 2567
บริษัทได้รับการคัดเลือกให้เป็นบริษัทที่มีการดำเนินงาน โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม
สังคม และธรรมมาภิบาล (ESG100) เป็นปีที่ 9
รวมทั้งได้รับการคัดเลือกให้อยู่ใน Universe ของกลุ่มหลักทรัพย์
ESG100 โดยสถาบันไทยพัฒน์
ผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2567 กลุ่มธุรกิจทางการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 891 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรจากการดำเนินงานก่อนผลขาดทุนด้านเครดิต ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 1,990 ล้านบาท
ลดลงร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหลักๆ
เป็นผลจากเงินปันผลที่ลดลงเนื่องจากกลุ่มธุรกิจทางการเงินยังคงลดพอร์ตการลงทุน
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารแลนด์
แอนด์ เฮ้าส์ ครึ่งแรกของปี 2567 เติบโตได้ดีผ่านการขยายฐานสินเชื่อลูกค้าทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ
ทั้งช่องทางดิจิทัลและพันธมิตรทางธุรกิจ ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 846 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.3
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากเงินปันผลที่ลดลง สินเชื่อเติบโตร้อยละ 8.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 หลักๆ เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรายย่อย
สินเชื่อธุรกิจและกลุ่มลูกค้าไต้หวัน และสินเชื่อกลุ่มลูกค้าไต้หวันเพิ่มขึ้นร้อยละ
31 ผ่านเครือข่ายของ CTBC Bank ธนาคารเอกชนอันดับ 1 ของไต้หวัน ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มธุรกิจ และ
Trade
Finance เติบโตร้อยละ 19 ทั้งนี้
ธนาคารคุม
NPL
ให้อยู่ที่ร้อยละ 3 รวมทั้งได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอย่างระมัดระวังโดย NPL Coverage อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 188 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
ด้านเงินฝาก
ธนาคารได้ขยายฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผ่านช่องทาง Digital Banking และออกผลิตภัณฑ์เงินฝากต่างๆ เช่น เงินฝากบัญชีออมทรัพย์ดิจิทัล B-You
Wealth ดอกเบี้ยสูงสุด 5.55% แคมเปญผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ดิจิทัล
รับฟรี บัตรแรบบิท LH Bank Success Infinite Prestige Collection แคมเปญผลิตภัณฑ์เงินฝากเงินตราต่างประเทศ
(FCD) และผลิตภัณฑ์ LH Bank Health
Care Saving รวมถึงบัญชีออมทรัพย์เพื่อธุรกิจอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได
ทิศทางธุรกิจครึ่งหลังของปี 2567 ธนาคารยังคงเน้นขยายตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยและขับเคลื่อน การเติบโตกลุ่มลูกค้า SMEs ธนาคารได้พัฒนาระบบ Corporate E-Banking และ Mobile
Banking เพื่อให้บริการ
มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการปรับกระบวนการพิจารณาสินเชื่อให้รวดเร็ว และเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Sustainable
Banking) ที่ดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
การบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม และล่าสุดธนาคารได้จับมือเป็นพันธมิตรกับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ “EEI”
และอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ “MASCI” รวมถึงบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย)
จำกัด “ABEAM”
บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำระดับโลก เพื่อดำเนินโครงการเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ประกอบการ
(Green Transition Advisory Loan) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม SMEs ไทยให้สามารถปรับตัว อย่างยั่งยืน
นายมนรัฐ
ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด หรือ LH Fund กล่าวว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 บริษัทได้ปรับลักษณะการดำเนินการในการบริหารกองทุน
โดยเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลและปรับเปลี่ยนกองทุนหลัก (
Master Fund ) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดและ เพิ่มโอกาสในการสร้างผลการดำเนินงานที่ดีกว่าเดิม
ส่วนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)
ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องโดยเฉพาะ REIT ประเภทโรงแรมและพื้นที่ค้าปลีก ได้แก่ LHHOTEL, LHSC และ QHHRREIT ที่ได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
กลยุทธ์ครึ่งหลังของปี 2567 บริษัทยังคงขยายฐานลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล รวมทั้งขยายฐานลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การจัดการ
รวมถึงให้ความสำคัญในด้าน ESG เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้กับกองทุนรวมและนักลงทุน
สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าอย่างต่อเนื่องส่งผลธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัทได้ พัฒนาระบบ Life Path
เพื่อรองรับการขยายฐานลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนได้แบบอัตโนมัติ
นายกานต์
อรรถธรรมสุนทร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด
(มหาชน) (LH Securities) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET
Index) 6 เดือนแรกของปี 2567 ปรับตัวลดลง 8.1% เมื่อเทียบกับสิ้นปี
2566 มาอยู่ที่ 1,300.96 จุด โดยนักลงทุนต่างชาติยังขายต่อเนื่อง มียอดขายสุทธิ
115,983 ล้านบาท โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,238
ล้านบาท ลดลง 22.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยลบที่กดดันดัชนี เช่น
ปัจจัยด้านการเมืองในประเทศและต่างประเทศ และท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาที่จะคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น
ผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี
2567 บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 158.8 ล้านบาท
ปรับตัวลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 หลักๆ
มาจากรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงอย่างมากตามปริมาณ การซื้อขายของตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงถึง
22.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาสที่ 3 บริษัทจะเปิดให้บริการธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน
(Financial Advisor : FA) เพื่อต่อยอดการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างครบวงจร
รวมทั้งได้พัฒนาบริการด้านระบบเทคโนโลยีผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อสร้าง Engagement
ของลูกค้า รวมทั้ง การบริหารต้นทุนอย่างเหมาะสมท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นที่มีความผันผวนและมีปริมาณการซื้อขายที่ลดลง