AOC 1441 เตือนภัย “โจรออนไลน์” อ้างเป็น จนท.รัฐ-ตำรวจ หลอกโอนเงิน – ลวงลงทุนเทรดหุ้น พบสูญเงินกว่า 25 ล้านบาท
AOC 1441 เตือนภัย “โจรออนไลน์” อ้างเป็น จนท.รัฐ-ตำรวจ หลอกโอนเงิน – ลวงลงทุนเทรดหุ้น พบสูญเงินกว่า 25 ล้านบาท
นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 3,335,051บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง แจ้งให้ผู้เสียหายยืนยันการคุ้มครองเงินบำนาญ โดยสอบถามข้อมูลส่วนตัว และให้ผู้เสียหายทำตามขั้นตอนต่าง ๆ จนถึงการสแกนใบหน้า ต่อมาผู้เสียหายต้องการตรวจสอบยอดเงินในบัญชี จึงพบว่าเงินในบัญชีถูกโอนออกไปจนหมด ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีหลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 3,404,953 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line ชักชวนลงทุนเทรดหุ้นสกุลเงินดิจิทัล ผู้เสียหายสนใจจึงทดลองลงทุนทีละน้อยๆ ก็ได้ทุนและกำไรคืนมา จึงโอนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีมูลค่าสูง แต่ไม่สามารถถถอนเงินได้ มิจฉาชีพแจ้งว่ายังไม่ถึงเวลาถอน ให้โอนเงินลงทุนเพิ่มไปเรื่อยๆ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) มูลค่าความเสียหาย 5,729,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line ใช้โพรไฟล์เป็นรูปชายหนุ่มหน้าตาดี ชวนพูดคุยสนทนากันจนสนิทใจ แต่ไม่เคยพบเจอกัน ต่อมามิจฉาชีพชักชวนให้ซื้อหวยสิงคโปร์ จากนั้นแจ้งว่าผู้เสียหายถูกรางวัลใหญ่ ให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อชำระภาษีก่อนจึงจะถอนเงินได้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป แต่มิจฉาชีพอ้างข้อผิดพลาดต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายโอนเงินเรื่อยๆ ผู้เสียหายนึกเฉลียวใจ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 4,315,810 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร เมืองสุรินทร์ แจ้งว่าพี่ชายของผู้เสียหายถูกตำรวจจับกุมเนื่องจากเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด โดยพี่ชายถูกยึดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ให้ไว้เพียงข้อมูลของผู้เสียหายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อได้เท่านั้น จากนั้นแจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อเป็นค่าปิดคดี ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ผู้เสียหายได้โทรหาภรรยาของพี่ชายเพื่อสอบถาม ภรรยาของพี่ชายบอกว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และไม่ได้โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก
และคดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 8,395,639 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์อ้างเป็นพนักงานบริษัทขนส่ง Flash Express แจ้งว่าพัสดุของผู้เสียหายได้รับความเสียหาย ทางบริษัทจะทำการชดเชยค่าเสียหายคืนให้ จากนั้นมีการเพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อกรอกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลบัญชีธนาคารทั้งหมด พร้อมทั้งให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงทำตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพแนะนำ ต่อมาได้รับข้อความแจ้งเตือนอัตโนมัติจากแอปพลิเคชัน Mobile Banking แจ้งว่าเงินโอนออกจากบัญชีจนหมด ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 25,180,453 บาท
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 31 มกราคม 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,438,603 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,141 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 504,909 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,214 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 156,233 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 30.94 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 119,242 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.62 (3) หลอกลวงลงทุน 73,365 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.53 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 48,929 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 9.69 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 37,289 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.39 (และคดีอื่นๆ 69,851 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 13.83)
“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการต่างๆ หลอกลวงผู้เสียหาย ทั้งการหลอกให้ลงทุน เพื่อหารายได้พิเศษ หรือหลอกลวงชวนเทรดหุ้น ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ Facebook และส่วนใหญ่มีการให้เพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อสมัครเข้าร่วมลงทุน และมีการใช้ข้ออ้างต่างๆ เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้เสียหายต้องการถอนเงิน มิจฉาชีพจะกล่าวอ้างว่ามีการทำผิดกฎไม่สามารถถอนเงินได้ ทั้งนี้ขอย้ำว่า การลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบ และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
นอกจากนี้ยังพบการถูกหลอกลวงผ่านแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งมีการอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อช่วยเหลือญาติ หรือแจ้งการคุ้มครองเงินบำนาญ โดยมีการหลอกลวงให้ติดตั้งแอปฯ เพื่อรับเงินคืน ขอเน้นย้ำว่าหน่วยงานรัฐ ไม่มีนโยบายในการโทรแจ้งให้โอนเงิน หรือโหลดแอปฯ ต่างๆแต่อย่างใด ซึ่งหากสงสัยขอให้หยุดทำธุรกรรมก่อน และติดต่อสอบถามรายละเอียดจากหน่วยงานรัฐนั้นๆโดยตรง ” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441
แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)
| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com