คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ ระดมสมองกูรูด้านกฎหมาย

ยกกรณีศึกษาบริษัทประกันภัยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เปิดช่องเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมาย ควรเร่งแก้ไขด่วนก่อนกระทบต่อกลไกการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ที่สังคมไทยอยู่ในยุคของพัฒนาการต่าง ๆ อย่างก้าวกระโดดทำให้กฎหมายตามไม่ทันและบ่อยครั้งเกิดช่องโหว่ของกฎหมาย ดังนั้นคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ จึงได้จัดงานเสวนาวิชาการและการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 5 เรื่อง “Legal Innovation for Sustainable Justice in the Next Normal” เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมสนม สุทธิพิทักษณ์ อนุสรณ์ โดยได้รับเกียรติจาก นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง กฎหมายยุค Next Normal กับการขับเคลื่อนนวัตกรรมโดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า หากจะสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักนิติธรรมและสังคมที่เป็นธรรม ต้องอาศัยการบูรณาการจากหลายศาสตร์การเรียนรู้ ไม่ใช่แค่นักกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น ยังต้องอาศัยเครื่องมือทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมการออกแบบนโยบาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและจะต้องมีกลไกที่ดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคให้เกิดประสิทธิภาพ โดยการพัฒนากฎหมายยุคดิจิทัลควรจะมีลักษณะยืดหยุ่นทันสมัย และต้องคำนึงถึงว่ากฎหมายอาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบได้ กฎหมายจึงควรต้องได้รับการตรวจสอบและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้ใช้งานด้วย
นอกจากนี้ในเวทีการประชุมวิชาการดังกล่าว ยังมีการจัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ การฟื้นฟูกิจการ-ทางรอดของธุรกิจหรือทางเลี่ยงกฎหมายกำกับดูแล : ทางออกและแนวทางการแก้ไขเพื่อความยุติธรรมที่ยั่งยืนโดยวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันพัฒนากฎหมายและแนวทางการบังคับใช้กฎหมายให้ทันสมัย หาทางออกและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการ เพื่อส่งเสริมความยุติธรรมที่ยั่งยืนในสังคมหลังเทคโนโลยีเข้ามีมาบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วนแบบก้าวกระโดด กฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงในสังคมให้ยั่งยืน จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจถึงบริบทของสังคม นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักนิติธรรมและสังคมที่เป็นธรรม โดยมีคณะวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ ศ.ดร. สหธน รัตนไพจิตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางสาวรังสิมา รัตนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสระแก้ว ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง และนายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมายและตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยมี ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ท่ามกลางคณาจารย์และนักศึกษาเข้ารับฟังกว่า 100 คน
ศ. ดร. สหธน รัตนไพจิตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สะท้อนประสบการณ์จากการเป็นกรรมการยกร่าง พ.ร.บ. ล้มละลาย ว่า ขณะที่ร่างกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่ดี แต่ไม่สามารถทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติภายหลัง ซึ่งเมื่อทราบแล้วก็เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องหาทางแก้ไข โดยควรให้น้ำหนักกับบทบาทในเรื่อง Regulator Control มากขึ้น


ส่วนมุมมองของ นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมายและตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษา
ที่เกิดขึ้นจริง และชี้ให้เห็นสภาพปัญหาของบริษัทประกันภัยที่วิเคราะห์ความเสี่ยงผิดพลาด การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ไม่ดีพอ แล้วพอเกิดปัญหา ก็นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งแม้เห็นว่ากระบวนการฟื้นฟูกิจการมีประโยชน์ แต่ในทางปฏิบัติ ทำให้เกิดการลักลั่นระหว่างกลไกในการฟื้นฟูกิจการ กับกลไกในการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ทำให้การกำกับดูแลตามกฎหมายประกันภัยไม่สามารถดำเนินการได้ จึงกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชน จำเป็นต้องทบทวนกฎหมาย เพื่อให้การทำงานของหน่วยงานกำกับดูแลเกิดประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันภัย ซึ่งมีศักดิ์ทางกฎหมายเท่ากับกฎหมายล้มละลาย
ด้านนางสาวรังสิมา รัตนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสระแก้ว ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง ให้ข้อคิดเห็นส่วนตัวในทางวิชาการว่า แม้การฟื้นฟูกิจการเป็นเจตนารมณ์ที่ดี การให้โอกาสสำหรับกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่เป็นการให้โอกาสกับลูกหนี้ทุกรายที่ธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้แล้ว และไม่ควรให้โอกาสลูกหนี้ใช้ช่องทางนี้เพื่อประวิงคดี ซึ่งเป็นไปตามหลักการสากลของคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายในส่วนของกฎหมายล้มละลาย และแก้ไขในส่วนของกฎหมายขององค์การกำกับดูแลเพื่อให้สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้เข้มข้นขึ้นซึ่งเปรียบเทียบกับ Chapter 11 ของกฎหมายล้มละลายของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำหนดว่ากรณีธนาคารหรือบริษัทประกันภัยที่มีหน่วยงานกำกับดูแลอยู่แล้ว ไม่สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้


          ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะผู้ดำเนินการเสวนากล่าวแสดงความเห็นว่า การจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใช้เวลานาน ทำให้กฎหมายไม่สามารถตามทันพัฒนาการทางสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินการเฉพาะหน้าคือการบังคับใช้และการตีความกฎหมายที่มีอยู่ ให้เกิดความเป็นธรรม โดยคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มุ่งเน้นให้นักศึกษาคิดไกล คิดเป็น คิดให้ปฏิบัติได้ ไม่เน้นท่องจำ พร้อมกับปลูกฝังสร้าง DNA ให้นักศึกษามีใจที่ยุติธรรมเวทีการเสวนาในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะนําเอาประเด็นที่เป็นปัญหาร่วมสมัย อันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่ในปัจจุบันยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับการแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน มาเปิดเวทีให้มีการพูดคุยเสวนา อภิปราย ระดมความคิดเห็นกัน ในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการของประเทศไทย ซึ่งในทางปฏิบัติเกิดการลักลั่นกันกับกฎหมายของหน่วยงานที่กำกับดูแล เพราะเกิดช่องโหว่ในเรื่องสภาวะการพักชำระหนี้ ทำให้มีโอกาสที่จะเลี่ยงกฎหมายของหน่วยงานที่กำกับดูแลจึงจำเป็นต้องหาทางออกเพื่อมิให้กระทบต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชน ซึ่งจากการเสวนาครั้งนี้ วิทยากรทุกท่านเห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย โดยอาจกำหนดเป็นข้อยกเว้นว่าในกรณีที่มีหน่วยงานกำกับดูแลอยู่แล้ว ห้ามมิให้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เช่นเดียวกับ Chapter 11 ของประเทศสหรัฐอเมริกา และปรับปรุงกฎหมายในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแลให้รองรับในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไป


Visitors: 14,091,108