พร้อมบวก+ กันต่อ! เปิดโปรแกรม Bangkok Design Week 2025 เฟส 2ในย่านพระนครและบางลำพู-ข้าวสาร

หลังจากการจุดประกายความสร้างสรรค์ในเฟสแรก เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 (Bangkok Design Week 2025) ภายใต้ธีม “Design Up+Rising: ออกแบบพร้อมบวก+” ยังคงเดินหน้าต่อในเฟสที่ 2 ระหว่างวันที่ 15 - 23 กุมภาพันธ์ 2568 โดยคราวนี้ขยับเข้าสู่ ย่านพระนคร, บางลำพู - ข้าวสาร ที่เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการพลิกโฉมให้กลายเป็นเวทีแห่งงานออกแบบร่วมสมัยที่ผสมผสานอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกันอย่างงดงาม

เฟสที่ 2 นี้ โดดเด่นด้วยโปรแกรมที่สะท้อนเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ ผ่านนิทรรศการและงานศิลปะ, โปรแกรมสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงพื้นที่และผู้คนในชุมชนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น, การจัดการพื้นที่สาธารณะของเมือง, โมเดลต้นแบบยกระดับร้านค้าในย่านเมืองเก่า, กิจกรรมสร้างบรรยากาศให้กับเมือง, โมเดลต้นแบบทางเลือกขนส่งสาธารณะ และเวิร์กช็อปเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะพาคุณสำรวจมุมมองใหม่ ๆ ของเมืองที่เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันไว้ได้อย่างลงตัวไว้ โดยจะเปลี่ยนโฉมย่านนี้ให้เป็นพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจ ที่สะท้อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทย พร้อมเป็นหมุดหมายสำคัญของงานออกแบบร่วมสมัย

มาพบกับโปรแกรมที่น่าสนใจที่จัดขึ้น กว่า 46 โปรแกรมในย่านพระนคร และ 42 โปรแกรมในย่านบางลำพู – ข้าวสาร โดยทุกโปรแกรมถูกออกแบบเพื่อส่งต่อพลังบวก และสร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงศิลปะ วัฒนธรรม และนวัตกรรมอย่างลงตัว และพร้อมที่จะพัฒนาเมืองไปด้วยกัน

โปรแกรมน่าสนใจย่านพระนคร และบางลำพู-ข้าวสาร

อัณฑะเหมียวครองเมือง + หมาน้อย หมาน้อยธรรมดา by จรจัดสรร นำเสนอผลงานในรูปแบบศิลปะกับหมาแมว โดยให้คนที่เข้ามาชมงานใช้เวลาร่วมกับแมวจรจัด และหมาจรจัด ที่นำออกมาจากศูนย์พักพิงของกรุงเทพมหานคร ถือเป็นรูปแบบการหาบ้านเชิงรุกวิธีหนึ่ง โดยทั้งหมดออกแบบภายใต้แนวคิด ‘ยินดีต้อนรับกลับบ้าน’ เหมือนกับการโอบกอดหมาแมวจรด้วยความรัก ซึ่งสะท้อนผ่านการจัดพื้นที่ให้เป็นเหมือนบ้าน ที่เราได้จำลองการใช้ชีวิตร่วมกันกับหมาแมวจรที่ออกมาหาบ้าน สถานที่ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

·       Made in Phranakorn โดย Urban Ally โปรเจกต์ที่พาเหล่านักสร้างสรรค์มาเจอกับเจ้าของร้านรุ่นเก๋าในย่านพระนคร เพื่อช่วยกันพัฒนาและออกแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ พร้อมช่วยเป็นแนวทางให้กิจการดั้งเดิมปรับตัวและเดินต่อไปได้ในยุคสมัยใหม่ นำเสนอผ่านเรื่องราวของ The old town’s favourite หรือ 5 ของโปรดชาวพระนคร สถานที่:ถนนสำราญราษฎร์

1.Re-scented Pranakorn โดย Eqlibrum X Nangloi – นำน้ำอบนางลอยมาตีความใหม่ ให้สามารถใช้ได้ในทุกโอกาส

2.ชาไทยยุคใหม่ โดย UA X Creator X ร้านใบชาตรากระต่าย – ปรับรูปแบบและแพ็กเกจให้ใบชาเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น

3.เผือกทอดแนวใหม่ โดย UA X Creator X ร้านยุ้ยเผือกทอด เสาชิงช้า – ขยายเมนูจากเผือกทอดดั้งเดิมให้มีความทันสมัยขึ้น

4.นิยมโภชนา Rebranding โดย UA X Creator X นิยมโภชนา เสาชิงช้า – อัปเกรดร้านอาหารจีนที่มีประวัติยาวนานให้เข้ากับยุคปัจจุบัน

5.อรรคภัณฑ์ 4.0 โดย UA X Creator X อรรคภัณฑ์ – เปลี่ยนโฉมร้านสังฆภัณฑ์เก่าแก่ให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น

 

MinutePocket_UrbanBed โดย SP/N โครงการเชิงทดลองที่กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมระยะสั้นบนที่ดินส่วนบุคคลที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรืออยู่ในสภาวะรอการพัฒนา โดยนำสิ่งก่อสร้างที่สร้างความเป็นไปได้ของการ ‘งีบในที่สาธารณะ’ กับ ‘การปีนป่าย’ ของเด็กในสนามเด็กเล่น มาติดตั้งเป็นการชั่วคราว เพื่อสร้างให้เห็นตัวอย่างของการนำพื้นที่ดินส่วนบุคคลที่ยังไม่ถูกใช้งาน ซึ่งกระจายตัวแทรกซึมอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร มาใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะ สถานที่:ถนนสำราญราษฎร์

ปุ๊บปั๊บสเปซ โดย ณัฐฐาพร จอมหงษ์ (Urban Ally) Puppup Parklet เป็นโครงการทดลองออกแบบเปลี่ยน พื้นที่จอดรถ 2-3 ช่อง ให้กลายเป็น พื้นที่สาธารณะขนาดเล็ก ภายใต้แนวคิด “การคืนพื้นที่สำหรับคนเดินเท้า” โดยเปลี่ยนพื้นที่ของรถให้กลายเป็นพื้นที่กิจกรรมของชุมชนและการพักผ่อนแบบชั่วคราว โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงพื้นที่เมืองให้เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน โดยมีการขยายพื้นที่ทางเท้า กำหนดช่องจราจรให้ชัดเจน และออกแบบมาตรการเพื่อลดความเร็วของการจราจร เพิ่มความปลอดภัยและความเป็นมิตรต่อคนเดินถนนใน ย่านพระนคร ทั้งยังเป็นแนวทางที่ช่วยจุดประกายให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เมืองอย่างยั่งยืนและเปิดโอกาสให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่สาธารณะมากขึ้น สถานที่:ถนนสำราญราษฎร์

มุมมองชราจร RISE IMPACT โดย RISE IMPACT ‘มุมมองชราจร’ ชวนมาเปิดมุมมองและประสบการณ์ ให้คุณได้เห็นถึงความท้าทายในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุในเมือง ทั้งการเผชิญกับทางเท้าที่ไม่เรียบ การเรียกรถรับส่งที่ยากลำบาก การขึ้นรถประจำทางที่ท่ารถไกลออกไปหลายกิโลเมตร ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ไม่สะดวกสบาย ไปจนถึงความกังวลใจกับภัยจากมิจฉาชีพแม้จะอยู่ในบ้านของตัวเอง - สิ่งเหล่านี้จะถูกร้อยเรียงผ่านภาพและป้าย โดยหวังให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่จะนำไปสู่เมืองที่เป็นมิตรกับคนทุกวัยมากยิ่งขึ้น สถานที่:เกาะกลางอุณากรรณ

 Power of Design Urban Ally โดย Urban Ally อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทยประกอบด้วย 15 อุตสาหกรรม แล้วทั้งหมดนี้จะมีส่วนทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองของเราดีขึ้นอย่างไรบ้าง Urban Ally จะพาทุกคนมาร่วมสัมผัสกับโครงการ Power of Design ที่จะบอกเล่าเรื่องราวพลังของการออกแบบ สถานที่:ถนนสำราญราษฎร์

 MEGA MAT: Reimagining Waste into Wonder โดย MVRDV + NL Embassy + GC MVRDV Architects ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA, PTT Global Chemicals และสถานทูตเนเธอร์แลนด์ สร้าง ‘Mega Mat’ เสื่อพลาสติกรีไซเคิลขนาดยักษ์สำหรับงาน Bangkok Design Week 2025 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการหมุนเวียนใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า โดย Mega Mat คือการเฉลิมฉลองความอเนกประสงค์ของ ‘เสื่อ’ ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนที่ครอบครัวชาวไทยใช้รองนั่งมาหลายชั่วอายุคน โดยนำเสื่อพลาสติกรีไซเคิลผืนยักษ์มาปูไว้เต็มลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มุมหนึ่งนำเสนอนิทรรศการที่บอกเล่าถึงข้อมูลต่างๆ ของเสื่อ ขณะที่เสื่อส่วนที่เหลือขนาด 860 ตารางเมตร นั้นออกแบบให้ทุกคนสามารถแวะเข้ามานั่งพักผ่อน เป็นเสมือนห้องนั่งเล่นของเมือง โดยรูปทรง ลวดลาย และสีของเสื่อได้รับแรงบันดาลใจจากหลังคาของวัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังลานคนเมือง สีสันของเสื่อจะไล่ระดับให้เข้าใกล้จุดศูนย์กลางสีเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเป้าหมายการไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน นอกจากนี้เสื่อแต่ละผืนยังทอด้วยลวดลายแบบดั้งเดิมเพื่อสะท้อนถึงศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทยอีกด้วย สถานที่ : ลานคนเมือง

Boundless Pleasure โดย DecideKit (The Public Storytelling by Projection Mapping) การนำเสนอเรื่องราวและความเคลื่อนไหวทางความคิดของผู้คนในเมือง โดยใช้งานออกแบบ Projection Mapping ฉายบนศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร หนึ่งในอาคาร และพื้นที่สาธารณะสำคัญของย่านพระนคร โดย Boundless Pleasure เป็นผลงานจากความร่วมมือของนักออกแบบสร้างสรรค์ชาวไทยและชาวต่างชาติ ภายใต้การนำของกลุ่ม DecideKit และได้รับการสนับสนุนจาก Epson Thailand สถานที่:ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

 ออฟ โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ โดย KopeHyaTaiKee กว่า 70 ปีที่ร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ได้สร้างและส่งต่อตำนานความอบอุ่นคู่พระนครผ่านร้านกาแฟแห่งนี้โดยทายาททั้ง 4 รุ่น ตั้งแต่มีโต๊ะเพียง 3 โต๊ะ จนพัฒนาอาหารและเครื่องดื่มตามความนิยมของยุคสมัยมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยปรับในสิ่งที่ควรปรับ เปลี่ยนในสิ่งที่ควรเปลี่ยน และเก็บในสิ่งที่ควรเก็บ ด้วยความตั้งใจที่พร้อมจะเติบโตไปกับยุคสมัยปัจจุบัน โดยผนึกกำลังร่วมมือกับเหล่าศิลปิน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ผ่านงานออกแบบเพื่อถ่ายทอดความเป็นโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของตำนานความอบอุ่นคู่พระนครแห่งนี้ไปพร้อมๆ กัน The ART of KopeHyaTaiKee ถือเป็นธีมหลักของโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ สราญรมย์ เราจึงได้ตีความ ‘อาร์ต’ ของโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ออกมาเป็น 6 ส่วน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของร้าน สถานที่:โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ สราญรมย์

โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ x BEERPITCH : “BANGKOK” Street art โดย KopeHyaTaiKee  ‘BANGKOK’ Typography Street art by BEERPITCH ผลงานการออกแบบ Typography art ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ลงบนผลงาน street art บนกำแพงร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ สาขาเสาชิงช้า และมีตู้สติ๊กเกอร์สำหรับถ่ายภาพให้ตัวชิ้นงานสามารถ interactive กับผู้ชมได้ พร้อมกรอบภาพสุดพิเศษเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น อีกทั้งจะมีเวิร์กชอปที่ได้ลองพิมพ์ลายจากกำแพง 'BANGKOK’ Typography Street art by BEERPITCH ผ่านแม่พิมพ์ลวดลายลิมิเต็ดที่ได้เตรียมไว้ นำมาพิมพ์ลายลงบนกระเป๋าผ้าที่ชื่นชอบ สร้างสรรค์เป็นภาพพิมพ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ออกแบบได้เอง และสามารถแชร์ภาพกิจกรรมเพื่อรับส่วนลดเครื่องดื่มภายในร้านได้อีกด้วย สถานที่:โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ เสาชิงช้า

Wonder wall โดย TAKANAO TODO DESIGN โครงการ Wonder wall วัสดุทำผนังจากกระจกรีไซเคิล พัฒนาโดย ลาภยศ ประสิทธิโศภิน จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และธนวัฒน์ ตั้งจารุศรีธราธร จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Takanao Todo Design สตูดิโอสัญชาติญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการนำเศษกระจกนิรภัยกลับมาใช้ประโยชน์ ในฐานะวัสดุใหม่ที่มีความโดดเด่น หวังเพิ่มการรับรู้ในสังคมมากขึ้น สถานที่:เสาชิงช้า

 ThaiOldGraphy โดย Craftsman Roastery การเดินทางของเทคโนโลยีการพิมพ์จากยุโรปสู่ประเทศไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของประวัติศาสตร์ตัวอักษรและการพิมพ์ในไทย นิทรรศการ ‘ThaiOldGraphy’: From Ancient to Present Times โดยอนุกูล อัศววิบูลย์พันธ์ จึงต้องการนำเสนอเรื่องราวพัฒนาการของตัวพิมพ์ไทย ตั้งแต่รากฐานที่ได้รับจากบาทหลวงฝรั่งเศส จนถึงยุคสมัยใหม่ โดยเน้นช่วงเวลาสำคัญ เช่น การเข้ามาของคณะมิชชันนารี การเผยแพร่ตำรา ‘จินดามณี’ และผลกระทบจากเทคโนโลยีตัวพิมพ์แบบ ‘Romain du Roi’ จากฝรั่งเศส สถานที่: คราฟส์แมนโรสเตอรี่ สาขาโอลด์ทาวน์

 Little Local beyond Ordinary โดย Silpakorn Office of Art Culture and Creativity  การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่สะท้อนชุมชน (Community reflection in art) เพื่อตามหา ‘เรื่องราวสิ่งเล็กๆ’ ของสถานที่ ส่งต่อให้ศิลปินนำไปสร้างสรรค์ผลงานที่ ‘ก้าวข้ามความธรรมดา’ ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ คุณค่า ความทรงจำ ต้นทุนที่พร้อมบวกความคิดใหม่ และการตีความใหม่ได้ โดยศิลปินจะเข้ามาสำรวจ เรียนรู้ สังเกตหรือเสวนากับชุมชนในช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นกลับไปทํางานสร้างสรรค์ในสตูดิโอของตนเอง แล้วจึงนำผลงานกลับมาจัดแสดงหรือรังสรรค์กิจกรรมร่วมกับชุมชนในช่วงเทศกาลต่อไป สถานที่: ถนนมหรรณพ

            ซากแห่งเวลาที่เป็นคลื่น โดย Mark C. โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ กับคลอง โดยติดตั้งเครื่องสร้างคลื่นและการฉายแสงแบบเชิงเส้นที่เชิงเขื่อนคลอง เพื่อซ้อนทับภาพที่มีชีวิตชีวาในอดีตลงบนภูมิทัศน์เมืองยุคปัจจุบัน ผู้เข้าชมสามารถเปิดใช้งานเครื่องสร้างคลื่นเพื่อเลียนแบบผิวน้ำที่สั่นกระเพื่อมจากการเดินเรือ สะท้อนภาพของคลองในอดีตที่หายไป โดยนิทรรศการตั้งอยู่ตามถนนกรุงเกษม เลียบคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งใต้ ถนนเส้นนี้มีความเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งกับเครือข่ายคลองในกรุงเทพฯ ทั้งอดีตและปัจจุบัน บนฝั่งหนึ่งมีโรงเรียน และอีกฝั่งมีพิพิธภัณฑ์รถไฟที่ปิดแล้ว ทั้งสองสถานที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของเมือง ข้างคลองมีทางเท้ากว้างขวาง ทำให้เหมาะแก่การมีปฏิสัมพันธ์จากคนเดินผ่าน ซึ่งตอบโจทย์โครงการนี้ที่ตั้งใจกระตุ้นให้สาธารณชนกลับมามีส่วนร่วมกับสายน้ำที่ถูกลืมของกรุงเทพฯ สถานที่:สะพานผ่านฟ้าลีลาศ

            พื้นที่ให้พัก โดย GU Space จากพื้นที่พักผ่อนส่วนตัวของนักท่องเที่ยว สู่พื้นที่พักผ่อนอีกหนึ่งมิติสำหรับผู้คนที่เร่งรีบกับการใช้ชีวิต ด้วยความตั้งใจดำเนินกิจการโฮสเทลที่ชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน Once Again Hostel และ GU Space จึงสร้างสรรค์พื้นที่ดาดฟ้าของ Once Again Hostel ให้เป็นมากกว่าแค่สถานที่พักผ่อนสำหรับชาวต่างชาติที่แวะเวียนเข้ามา แต่ยังเป็นพื้นที่ซึ่งเชื่อมโยงผู้คน และทำให้เข้าถึงย่านประตูผีจากมุมมองที่แตกต่าง โดยเปิดให้เป็นที่พักผ่อนของทุกคน รวมทั้งยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่เอื้อให้ผู้ชมได้ฟัง สัมผัส และอยู่กับสิ่งตรงหน้าให้มากขึ้น สถานที่:Once Again Hostel

            เฌิง และ เฌย โดย  KopeHyaTaiKee  เฌย กับ เฌิง เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งที่ใช้ศิลปะในการนำของเก่าเก็บมากระชากใหม่ เฌย นำโมลเก้าอี้หัวโล้นจีนเก่าเก็บมาบิดการผลิต plastic แบบ mass ด้วยการหยอดสีด้วยมือแบบไม่มี sequence ตายตัว ด้วยสีที่ควบคุมไม่ได้และลายที่ไม่สามารถทำซ้ำได้ ทำให้เฌยเป็นได้มากกว่าเก้าอี้ที่ใช้นั่ง แต่เป็นงานศิลปะที่เล่นกับความไม่แน่นอน ต่อยอดมาเป็นเฌิงที่ผสานหัวเฌยกับลูกกรงเซรามิกเก่าเก็บ เป็น assemblage ที่หยิบจับสิ่งของต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่อยู่เดี่ยวๆ อาจจะดูไม่มีมูลค่ามารวบรวมและเสนอไปตามส่วนต่างๆ ของร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ สราญรมย์ ถือเป็น way ใหม่ๆ ให้กลมกลืน และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมได้ สถานที่:โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ณ สราญรมย์

ย่านบางลำพู-ข้าวสาร

            คำเล็ก เรื่องใหญ่: ดื่มด่ำประสบการณ์อาหารบางลำพู โดย DECIDEKIT x SUTO x Banglamphu Everyday กิจกรรม ‘ดื่มด่ำประสบการณ์อาหารบางลำพู: คำเล็ก เรื่องใหญ่’ จึงอยากจะเปิดประสบการณ์ใหม่ในการรับประทานอาหารของทุกคน ผ่านรสชาติของอาหารทานเล่นตามแบบฉบับของบางลำพู โดยผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสกับบรรยากาศที่มีการจัดแสงและศิลปะที่สร้างสรรค์มาเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า พร้อมกับฟังเรื่องราวและวัฒนธรรมที่ล้อมรอบย่านเก่าแก่แห่งนี้ โดยเน้นความสบายๆ และการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงานในรูปแบบที่เป็นกันเอง เพราะฉะนั้นกิจกรรมนี้จึงไม่เพียงแค่เป็นการลิ้มลองรสชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียนรู้และเข้าใจถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ในทุกประสาทสัมผัส ทั้งได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น และได้ลิ้มรสความเป็นบางลำพูอย่างลึกซึ้งและครบถ้วน สถานที่:ห้างนิวเวิลด์

Face of Khaosan โดย POHCHANG x MEK PAWORNPON x SONJAI HOUSE      นิทรรศการภาพถ่ายชาวข้าวสาร เล่าเรื่องราวของผู้คนที่เปรียบเสมือนตัวแทนในแต่ละช่วงเวลาตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสะท้อนถึง 'ชีวิต' บนพื้นที่ที่ไม่เคยหลับใหล สถานที่: ถนนข้าวสาร

 บางลำพู's everything โดย Banglamphu everything นิทรรศการของนักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรง จากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งต่อยอดมาจากนิทรรศการ ‘บางลำพู everything Showcase’ โดยตั้งใจจะถ่ายทอดเสน่ห์ของย่านเก่าแก่แห่งนี้ ผ่านเรื่องราวของผู้ฤคน วิถีชีวิตและพื้นที่ที่หลอมรวมจนกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน สถานที่ : บัดดี้เบียร์

 Fashion of Banglamphu โดย Pohchang x INTHAI ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว บางลำพู ถือว่าเป็นย่านขายเสื้อผ้ายอดนิยมอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ คึกคักทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่เสน่ห์ของบางลำพูไม่เคยเลือนหาย สิ่งเหล่านี้จะได้รับการถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะจัดวาง ‘Fashion of Banglamphu’ ซึ่งจะมาบอกเล่าเรื่องราวของย่าน ‘แฟชั่น’ แห่งนี้ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สถานที่:ดี แอนด์ ดี พลาซ่า (โรงแรมดั้งเดิม)

 ตามเก็บโปรแกรมต่าง ๆ ของเทศกาลฯ ให้ครบทุกพื้นที่จัดงานทั่วกรุงเทพฯ และหากใครชื่นชอบผลงานชิ้นไหนที่คิดว่าจะช่วยเปลี่ยนกรุงเทพฯ ที่ดียิ่งขึ้นได้ แค่โพสต์ลง Social Media ของตัวเอง พร้อมติด Hashtag #UpRiseBangkok #DesignYourChange แค่นี้ก็นับว่าคุณได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเมืองแล้ว แล้วมาดูกันว่าพลังของงานดีไซน์ และเสียงของคุณจะเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน? มาร่วมขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่ทุกคนอยากอยู่ไปด้วยกัน!

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Website: www.bangkok design week.com, Facebook/Instagram: bangkok design week, Twitter: @BKKDesignWeek, Line: @bangkokdesignweek

#BKKDW2025 #BangkokDesignWeek #ออกแบบพร้อมบวก #DesignUpRising #UpRiseBangkok #DesignYourChange #CEA 

Visitors: 14,252,722