คปภ. ยกเครื่องคุม “ซื้อ-ขาย” สังหาริมทรัพย์” ของบอร์ดบริษัทประกันภัย
มีผลบังคับใช้แล้ว 1 ก.พ. 2567 เพื่อส่งเสริมธุรกิจประกันภัยทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้น
นายสมประโชค
ปิยะตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับธุรกิจและการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า นโยบายและทิศทางการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ประการหนึ่งก็คือ
การปรับปรุงกฎหมายและหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง
โดยแนวทางการออกกฎเกณฑ์และมาตรฐานใหม่ ๆ ในการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยจะต้องเป็นกฎเกณฑ์การกำกับที่มีความยืดหยุ่นสอดรับกับสภาพแวดล้อมและบริบทการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
ซึ่งหากบริษัทประกันภัยสามารถดำเนินธุรกรรมได้อย่างคล่องตัว
และอยู่บนพื้นฐานของการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมแล้ว
ย่อมส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
สำนักงาน
คปภ. จึงได้เร่งปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว
โดยหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่
1 กุมภาพันธ์ 2567 ได้แก่ “ประกาศนายทะเบียน เรื่อง การขอรับความเห็นชอบการขายหรือให้อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์หรือซื้อทรัพย์สินจากกรรมการบริษัท
รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการบริษัทของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย
พ.ศ. 2567”
โดยสาระสำคัญของการปรับปรุงหลักเกณฑ์ฉบับนี้เพื่อสอดคล้องกับหลักการของหน่วยงานกำกับดูแลอื่น
ๆ
โดยรายการธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกรรมการบริษัท
รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการบริษัทนั้น
จำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อให้มั่นใจได้ว่าธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
เป็นธุรกรรมที่ดำเนินการตามเงื่อนไขปกติทางการค้า โปร่งใส
และไม่เป็นธุรกรรมที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of
Interest) โดยสำนักงาน คปภ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่มีการลดข้อจำกัดและสร้างความยืดหยุ่นต่อการนำไปปฏิบัติใช้จริง
เช่น กำหนดมูลค่าวงเงินที่จากเดิมต้องขอรับความเห็นชอบก่อนทำธุรกรรมในกรณีซื้อทรัพย์สินตั้งแต่บาทแรก
หรือกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทสามารถทำธุรกรรมลงทุนประกอบธุรกิจอื่นตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2556 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้รายงานต่อนายทะเบียนหลังทำธุรกรรมได้
เป็นต้น
ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญของประกาศฯ ได้เป็นข้อ
ๆ ดังนี้ 1. กรณีธุรกรรมขาย ให้อสังหาริมทรัพย์แก่กรรมการบริษัทรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์จากกรรมการบริษัทรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทและได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน
2. กรณีธุรกรรมที่อยู่ภายใต้ประกาศ คปภ. เรื่อง
การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2556
และที่แก้ไขเพิ่มเติม บริษัทประกันภัยไม่ต้องขอรับความเห็นชอบก่อนการทำธุรกรรม 3. กรณีธุรกรรมอื่นนอกเหนือจาก
1 และ 2 หากมูลค่าสะสมของธุรกรรมกับกรรมการรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องเกินกว่าหนึ่งล้านบาทต่อปี
บริษัทประกันภัยต้องขอรับความเห็นชอบจากนายทะเบียนก่อนการทำธุรกรรม และ 4. บริษัทประกันภัยต้องรายงานการทำธุรกรรมต่อนายทะเบียนในทุกกรณี
และเปิดเผยรายการในงบการเงินและฐานะการเงิน
อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทประกันภัยจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
จำเป็นต้องมีระบบงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้
และสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสมในทุก ๆ ธุรกรรม โดยเฉพาะธุรกรรมที่เกี่ยวกับกรรมการบริษัท
รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการบริษัท ซึ่งถือเป็นธุรกรรมที่มีโอกาสเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้สูงมาก
ดังนั้น สำนักงาน คปภ.
จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยเพื่อให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนสามารถเชื่อมั่นได้ว่าบริษัทประกันภัยดำเนินธุรกิจอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้การกำหนดมาตรการใด ๆ สำนักงาน คปภ. คำนึงถึงผลกระทบของผู้มีส่วนได้เสีย
บริษัทประกันภัย ผู้เอาประกันภัย และประชาชนเป็นสำคัญ