เลขาธิการ คปภ. นำทัพประกันภัยไทยเปิดโลกทัศน์ใหม่บนเวทีโลกในการประชุม “2024 NAIC International Forum” ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสนำคณะผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เข้าร่วมการประชุมประจำปีนายทะเบียนประกันภัยของประเทศสหรัฐอเมริกา (2024 NAIC International Insurance Forum) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและบริษัทประกันภัยระดับนานาชาติได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมประกันภัย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินและธุรกิจประกันภัยจาก 56 มลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานวิชาการด้านการประกันภัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อาทิ สมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (The International Association of Insurance Supervisors: IAIS) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) European Insurance and Occupational Pensions Authority (EIOPA) ผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยจากประเทศไอร์แลนด์ ประเทศอังกฤษ ประเทศเบลเยียม ประเทศโมร็อกโก ประเทศอาร์เจนตินา และประเทศไทย ตลอดจนผู้แทนจากสมาคมและหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่สำนักงาน คปภ. จะได้รับทราบข้อมูล รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัยของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเชิงมหภาคที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจประกันภัยในอนาคต เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทยอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศไทย
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้รับเกียรติจาก National Association of Insurance Commissioners (NAIC)
ให้ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ “การระบุช่องว่างความคุ้มครองด้านการประกันภัยในประเทศไทย” โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งความไม่แน่นอน หรือที่เรียกกันว่า V-U-C-A World ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภูมิทัศน์ของภาคธุรกิจประกันภัยไทย โดยได้ยกตัวอย่างความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และโรคอุบัติใหม่ การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจ และความท้าทายที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยฉายภาพความท้าทายที่สำนักงาน คปภ. เห็นว่าเป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมและผลักดันให้ธุรกิจประกันภัยมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประกอบด้วย ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย ประชาชนไม่มีการวางแผนทางการเงิน และข้อจำกัดด้านรายได้ส่งผลต่อการเข้าถึงประกันภัย ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลโดยตรงต่อการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชนทำให้เกิดเป็นช่องว่างความคุ้มครองด้านประกันภัย (Protection Gap) ในประเทศไทย
ซึ่งสำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการประกันภัย เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความมั่นคง ทนทาน พร้อมรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้มีการดำเนินการที่สำคัญ เพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงประกันภัยของประชาชนผ่านมาตรการที่สำคัญ อาทิ การประกันภัยพืชผล การประกันภัยรายย่อย (Microinsurance) และการประกันภัยสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งล้วนแล้วแต่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงให้แก่ประชากรในกลุ่มที่มีความเปราะบาง
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันภัยโลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง สภาวะโลกร้อน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ระบบเศรษฐกิจและการเงินของโลกที่ผันผวน รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ซึ่งสำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยต้องมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปรับตัวและนำเอากลยุทธ์ที่ทันต่อเหตุการณ์มาใช้ในการกำกับ ดูแล และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยให้มีความเข้มแข็ง และยั่งยืน ซึ่งการประชุมนายทะเบียนประกันภัยของประเทศสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. และหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของแต่ละมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนอกจากการประชุมดังกล่าวแล้ว ตนยังได้มีโอกาสประชุมหารือเป็นการส่วนตัว (Bilateral Meeting) ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของรัฐนิวยอร์ก (New York Insurance Department) และสำนักงานของ NAIC ประจำรัฐนิวยอร์ก (Capital Markets & Investment Analysis Office) เพื่อจะได้นำเอาองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคธุรกิจประกันภัยของประเทศไทยต่อไป