SCN ปี 66 รายได้พุ่งเท่าตัว จ่ายปันผล 0.0124 บาท/หุ้น
บมจ. SCN ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทน
และขนส่งแบบครบวงจร โชว์ผลการดำเนินงานรอบปี 2566 พื้นฐานสุดแกร่ง
รายได้โต 34% YoY กำไรสุทธิแบบออร์แกนิค
พุ่ง 28 % YoY สูงสุดในรอบ 3 ปี ประกาศจ่ายปันผล 0.0124 บาท/หุ้น ขึ้น XD 7
พ.ค. จ่าย 23 พ.ค.นี้
ดร.ฤทธี กิจพิพิธ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด
(มหาชน) หรือ SCN เปิดเผยว่า
ผลการดำเนินงานประจำปี 2566 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ รับรู้รายได้จากการขายและบริการ
ใน Q4/2566 อยู่ที่ 1,878 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% หรือเท่าตัว
เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสามารถทำกำไรเติบโตได้สุทธิ 167
ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งนับเป็นกำไรสุทธิแบบออร์แกนิค อยู่ที่ 132 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมา 28% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
โดยไม่รวมกำไร one - time ที่เกิดจากขายเงินลงทุนรวมถึงการตัดจำหน่ายโครงการที่เป็น
Non-perform ของบริษัท ซึ่งเป็นการเติบโตแบบ Organic
Growth หรือการเติบโตจากความแข็งแกร่งขององค์กรจริงๆ ทั้งนี้ปัจจัยการเติบโตเกิดจาก
1)
การเติบโตของผลการดำเนินงานในหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติ
ซึ่งได้อานิสงส์บวกจากปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติและราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
2)
บริษัทเริ่มรับรู้รายได้สัญญาจ้างขนส่งจากการชนะประมูลงานขนส่ง ปตท. ตั้งแต่ไตรมาส
2/2566 เป็นต้นไป 3) รับรู้รายได้จากงานจ้างเหมาก่อสร้างอาทิ เช่น
งานรับเหมาก่อสร้างปั๊มบางจาก และ 4) ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
SAP ด้วยผลการดำเนินงานก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งเตรียมความพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ปี 2567
“ภาพรวมความสำเร็จในปี 2566 บริษัทฯ ได้ตอกย้ำความเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจขนส่งก๊าซธรรมชาติ
โดยคว้าชัยชนะประมูลงานขนส่ง ปตท. ทำให้ขึ้นแท่นผู้ขนส่งก๊าซธรรมชาติ
อันดับ 1 ของประเทศ โดยมีปริมาณขนส่งรวมอยู่ที่ 1 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ทั้งใน 6 พื้นที่ ได้แก่
ลาดหลุมแก้ว ลำลูกกา สามโคก (2 เขต) เชียงรากน้อย กิ่งแก้ว
ซึ่งได้เริ่มดำเนินงานและรับรู้รายได้จากสัญญาใหม่นี้ครบทุกพื้นที่ตั้งแต่เดือนธันวาคม
2566 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ในส่วนของ ธุรกิจ iCNG มีรายได้โตต่อเนื่อง จากปริมาณลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
ทำให้พลิกกลับมามีกำไรเป็นปีแรกนับตั้งแต่ปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ เช่นเดียวกันในส่วนของบริษัท
สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด (SAP) ที่พร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์
ในปี 2567 ก็มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
โดยมีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)
ในปีที่ผ่านมา เพิ่มอีก 6 โครงการ ทำให้ปัจจุบัน COD ไปแล้วกว่า 29 โครงการ
ซึ่งรวมกำลังผลิตในมือตอนนี้กว่า 23 เมกะวัตต์
ส่งผลให้มีกำไรเติบโตกว่า 60% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ยังเติบโตอย่างมีนัยะสำคัญเช่นกัน
โดยปีที่แล้ว บริษัทฯ ได้ชนะการประมูลงานก่อสร้างและปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่
รวมถึงรับเหมาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar
Rooftop) ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับก๊าซ (Non-Gas) โดยมีมูลค่าสัญญารวมกว่า 222 ล้านบาท และบริษัทฯ
เล็งเห็นถึงการเติบโตของการงาน EPC กลุ่ม Non-Gas นี้ในอนาคตเป็นอย่างมาก” ดร.ฤทธี กล่าว
ดร.ฤทธี กล่าวเพิ่มว่า นับว่าในช่วงตั้งแต่โควิดที่ผ่านมาจนมาถึงปัจจุบัน
บริษัทฯ มีการเทิร์นอะราวด์ที่ชัดเจน และเติบโตขึ้นปีละเกือบเท่าตัว
สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ
ที่มีการเติบโตอย่างมีนัยะสำคัญในทุกกลุ่มธุรกิจ
โดยภาพรวมการดำเนินงานของธุรกิจทั้ง 4 กลุ่ม บริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติ
ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโต โดยมีรายได้อยู่ที่ 990
ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14%
เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) ในส่วนธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ อะไหล่
และซ่อมบำรุงรถโดยสารปรับอากาศ มีรายได้อยู่ที่ 156 ล้านบาท
และรายได้จากธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 173 ล้านบาท
(เพิ่มขึ้น 233% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า)
นอกจากนี้สำหรับธุรกิจขนส่งและอื่นๆ มีรายได้อยู่ที่ 189 ล้านบาท
(เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า)
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแบ่งปันความสำเร็จให้แก่ผู้ถือหุ้น
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2567 ได้มีการอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2566 ในอัตรา 0.0124 บาท/หุ้น
คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 15 ล้านบาท
โดยจะกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) วันที่
8 พ.ค. 2567
และกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 7 พ.ค.2567 พร้อมกำหนดเตรียมจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23
พ.ค. 2567
สำหรับการลงทุนในปีนี้ บริษัทฯ เตรียมรุกธุรกิจ
EV Charger โซลาร์โฮม
โดยก่อนหน้านี้ที่ได้มีการศึกษาการขยายธุรกิจพลังงานเพิ่มเติม โดยวางงบลงทุน 20 ล้านบาท ทำโครงการ “Private PPA” อีวี ชาร์จเจอร์
นำร่องพื้นที่หอพัก คอนโดมิเนียม และโรงแรม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเข้าเจรจา
โดยคาดว่าจะสามารถเติบโตได้มากในอนาคต และให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) อยู่ที่ราว 10% นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนของธุรกิจก๊าซธรรมชาติรูปแบบใหม่ในอนาคต
คือการผลิตไฮโดรเจนหรือบลูไฮโดรเจน เพื่อเป็นเชื้อเพลิงและเป็นก๊าซพิเศษให้แก่บางอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้
ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจให้ SCN ได้ในอนาคต ดร. ฤทธี
กล่าวทิ้งท้าย