เอสซีจี แถลงผลประกอบการ ไตรมาส 1 ปี 2567 ดีขึ้นจากไตรมาสก่อน

 

 

 

เอสซีจี แถลงผลประกอบการ ไตรมาส 1 ปี 2567 ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนเดินหน้านวัตกรรมกรีนต่อเนื่อง เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด รุกธุรกิจในตลาดเติบโตสูง

 

เอสซีจี เผยผลประกอบการ ไตรมาส 1 ปี 2567 ดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ด้วยนวัตกรรมกรีน การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงอานิสงส์จากการท่องเที่ยวคึกคักและเศรษฐกิจในประเทศมีสัญญาณฟื้นตัว  หลังจากนี้เศรษฐกิจโลกอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง เอสซีจีเตรียมพร้อมรับความผันผวน ปรับเปลี่ยนแผนงานธุรกิจ รวมถึงการบริหารซัพพลายเชน และพร้อมลุยต่อตามแนวทาง Inclusive Green Growth เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดช่วยลดต้นทุน เร่งเครื่องนวัตกรรมกรีนตอบเมกะเทรนด์โลก มุ่งขยายธุรกิจในตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูง ด้านโครงการปิโตรเคมีเวียดนามปักหมุดผลิตเม็ดพลาสติกป้อนตลาดโลกในไตรมาส 3

 

           นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ผลประกอบการเอสซีจี ไตรมาส 1 ปี 2567 มีแนวโน้มดีขึ้น  แม้เศรษฐกิจโลกผันผวน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในช่วงอ่อนตัว แต่เอสซีจีสามารถบริหารต้นทุนได้ดี นำเสนอนวัตกรรมกรีนต่อเนื่อง สู่ตลาด ส่งผลให้มีรายได้ 124,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน และมี EBITDA (กำไรก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย โดยรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) 12,623 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากไตรมาสก่อน และกำไรสำหรับงวด 2,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,559 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน  ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนานวัตกรรมกรีนให้โดนใจลูกค้า ฟังก์ชันตอบโจทย์การใช้งาน ช่วยลดคาร์บอนซึ่งดีต่อโลก อาทิ ปูนคาร์บอนต่ำ พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่ใช้ซ้ำ รีไซเคิลได้ เห็นได้จากยอดขายSCG Green Choice ซึ่งอยู่ที่ 65,782 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53 ของยอดขายทั้งหมด (เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1,114 ล้านบาท) ขณะเดียวกันยังลดต้นทุนได้ดี ใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยโรงงานปูนซีเมนต์ในไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนได้ถึงร้อยละ 47  นอกจากนี้หุ้นปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ยังได้รับเลือกให้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เป็นช่องทางใหม่ให้นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้น SCC และผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ

เอสซีจีเร่งเดินหน้าต่อตามแนวทาง Inclusive Green Growth มุ่งสู่ผู้นำธุรกิจกรีน ควบคู่การสร้างสังคม Net Zero พัฒนานวัตกรรมกรีนเพื่อป้อนตลาดโลก ซึ่งมีความต้องการสูงและเติบโตได้อีกมาก ล่าสุดปูนคาร์บอนต่ำ (เจเนอเรชัน 2) ที่ช่วยลดคาร์บอนได้ร้อยละ 15-20  จะพร้อมจำหน่ายแล้ว นอกจากนั้นเตรียมรับเศรษฐกิจในประเทศและภูมิภาคที่กำลังฟื้นตัว โดยขยายการลงทุนในตลาดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างภูมิภาค SAMEA (เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา) ส่วนโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) จะกลับมาเดินเครื่องทดสอบทั้งโรงงาน เพื่อสร้างความพร้อมในการผลิตเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงในไตรมาส 3” 

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง หรือ SCGP สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการวัตถุดิบ การส่งเสริมการปลูกไม้ยูคาลิปตัสแบบครบวงจร เพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพและช่วยกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ 31,770 ไร่ จำนวน 152,181 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และมุ่งต่อยอดเพิ่มมูลค่าไม้ยูคาลิปตัสผ่านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลงทุนงบประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในความร่วมมือกับ Origin Materials บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา พัฒนา “Bio–based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ” รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด นำเทคโนโลยี Machine Learning และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงานและต้นทุน  และสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมรองรับเทรนด์การเติบโตของธุรกิจสีเขียว

ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน พัฒนานวัตกรรมปูนซีเมนต์หลากหลายประเภทตามการใช้งาน  ล่าสุดการใช้ ปูนคาร์บอนต่ำมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 และวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ จะเปิดตัวปูนคาร์บอนต่ำ (เจเนอเรชัน 2) ซึ่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ร้อยละ 15-20 เทียบเท่ามาตรฐานสากล พร้อมตั้งเป้าปีนี้ เปลี่ยนกระบวนการผลิตทุกโรงงานปูนซีเมนต์ในไทยให้เป็นปูนคาร์บอนต่ำ (เจเนอเรชัน 2) ขณะเดียวกันยังต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำอื่น ๆ ด้วย อาทิคอนกรีตคาร์บอนต่ำ ซีแพคลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตได้อย่างน้อย 25 กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 25 ต้น สำหรับทุกการใช้งานคอนกรีต 10 ลูกบาศก์เมตร โดยคงคุณสมบัติเทียบเท่าหรือดีขึ้นกว่าเดิม  เสือ เดคอร์ คาร์บอนต่ำปูนซีเมนต์สำเร็จรูปสูตรคาร์บอนต่ำ สำหรับงานหล่อพื้นหรือฉาบตกแต่งผนัง ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ รวมทั้งเสิร์ฟปูนซีเมนต์ให้ลูกค้าทุกเซกเมนต์ อาทิ ปูนงานโครงสร้างทนทานพิเศษ เอสซีจี คาร์บอนต่ำ สูตรปูนคนใต้ พัฒนาให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ของภาคใต้  คอนกรีตชายเล ซีแพค และคอนกรีตมารีน ซีแพคสำหรับพื้นที่ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ป้องกันโครงสร้าง สิ่งปลูกสร้างใกล้ชายฝั่งทะเล  คอนกรีตซีแพค ซูเปอร์ ทนดินเค็มสำหรับภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ดินเค็ม ต้านทานการซึมผ่านของคลอไรด์และซัลเฟตที่สะสมใต้ดิน  นอกจากนี้ โรงงานปูนซีเมนต์ในประเทศได้เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนถึงร้อยละ 47  ส่วนโรงงานปูนซีเมนต์ทุ่งสงที่ได้ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อรองรับการใช้เชื้อเพลิงทดแทน   

ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง มุ่งพัฒนาสินค้าวัสดุก่อสร้างและโซลูชันเพื่อการอยู่อาศัยที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า อาทิ บ้านเอสซีจี ไฮม์ High Ceiling’ แบบบ้านใหม่สไตล์โมเดิร์น มีพื้นที่ใช้สอยตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ เพิ่มมุมพักผ่อนกลางบ้าน พร้อมโถงขนาดใหญ่ Double Space และยังคงคุณภาพการก่อสร้างและเทคโนโลยีการอยู่อาศัยแบบเอสซีจี ไฮม์ที่ลูกค้าไว้วางใจ  หลังคาเมทัล เอสซีจี รุ่นคลิปล็อค 700’ ออกแบบให้ติดตั้งด้วยระบบคลิปล็อค (Clip Lock) ซ่อนหัวสกรู หมดปัญหารั่วซึมบริเวณหัวสกรู เตรียมจำหน่ายไตรมาส 2  ‘SCG Modeena COFF’ วัสดุตกแต่งผนังไฟเบอร์ซีเมนต์ ที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลจากกระบวนการผลิตและวัสดุเหลือใช้จากธุรกิจอื่นถึงร้อยละ 48 ทดแทนการใช้ Virgin Fiber ลดการปล่อยคาร์บอน แต่คงความแข็งแรง ทนทาน สวยงาม พร้อมกันนี้เตรียมเปิดตัวแบรนด์ใหม่ ‘ONNEX by SCG Smart Living’ (ออนเนกซ์ บาย เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง) ครั้งแรกในงานสถาปนิก67 รุกธุรกิจสมาร์ทโซลูชันสำหรับบ้านและอาคารเต็มที่ ด้วยการผนึกรวมนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพการอยู่อาศัย ทั้งด้านประหยัดพลังงาน สร้างอากาศสะอาด และเพิ่มความปลอดภัย อาทิ ระบบหลังคาโซลาร์ ระบบปรับคุณภาพอากาศภายในบ้าน และโซลูชันบริหารจัดการการใช้พลังงานในอาคาร

ธุรกิจเอสซีจี ดิสทริบิวชั่น แอนด์ รีเทล รุกธุรกิจเข้าสู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ภูมิภาค SAMEA ซึ่งมีค่า GDP เฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 70 และมีประชากรรวมกันมากกว่าร้อยละ 40 ของโลก โดยมีการตั้งสำนักงานของ SCG International ที่ซาอุดิอาระเบีย เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการซัพพลายเชนให้ลูกค้าแบบครบวงจร ผ่านการผลักดันเครือข่ายธุรกิจทั้งหมดของเอสซีจี ครอบคลุมทั้งปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง กระดาษและบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนวัตถุดิบและชิ้นส่วนอุตสาหกรรม โดยมีแผนขนส่งสินค้าจากซาอุดิอาระเบียกระจายไปยังหลายประเทศทั่วโลก และจัดหาสินค้าจากภูมิภาคอื่น ๆ เข้ามายังซาอุดิอาระเบียเช่นกัน  ขณะที่ในตลาดอาเซียนได้ผลิตสินค้าปูนซีเมนต์ถุงเจาะกลุ่ม Economy Segment ที่เติบโตสูง อาทิ แบรนด์ 5-Star Cement ในกัมพูชา แบรนด์ ADAMAX ในเวียดนาม และแบรนด์ Bezt ในอินโดนีเซีย ในส่วนของธุรกิจรีเทลในประเทศ ได้สร้างการรับรู้สำหรับร้าน เอสซีจี โฮม โดยล่าสุดได้จัดงาน Grand Opening สาขาเมืองขอนแก่น

ธุรกิจเคมิคอลส์ หรือ SCGC เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายนวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก ‘SCGC GREEN POLYMERTMอย่างเต็มที่ เพื่อคว้าโอกาสรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2567 โดยไตรมาสที่ผ่านมา  มียอดขาย 38,000 ตัน โดยทั้งปี 2566 มียอดขาย 218,000 ตัน สอดคล้องตามเป้าหมาย 1 ล้านตันภายในปี 2573 นอกจากนี้ยังผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำ อาทิ โฮมโปร ผลิต เครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลกครั้งแรกในไทย โดยนำเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลระบบปิดอย่างครบวงจร เพื่อเปลี่ยนเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง Green Polymer สำหรับผลิตเป็นสินค้าใหม่ นอกจากนี้ ภายใต้บริษัท Sirplaste SA โปรตุเกส ยังได้เปิดตัว ‘SIRPRIME’ เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงชนิดไร้กลิ่น หรือ High Quality Odorless PCR HDPE Resin (PCR HDPE) ผลิตจากขยะพลาสติกจากครัวเรือน 100% โดยใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลประสิทธิภาพสูงเพื่อกำจัดกลิ่นและสิ่งแปลกปลอม ได้รับการรับรองมาตรฐาน EuCertPlast และ RecyClass ของยุโรป ขณะที่ โครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP เวียดนามอยู่ในช่วงการประเมินและตรวจสอบเครื่องจักรอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัย คาดว่าจะกลับมาเดินเครื่องจักรทดสอบและพร้อมผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3

               ธุรกิจเอสซีจี เดคคอร์ หรือ SCGD ชู 4 กลยุทธ์ดันยอดขายโต 2 เท่า ภายในปี 2573 รับตลาดอาเซียนทยอยฟื้นตัว ได้แก่ 1) สร้างการเติบโตให้ธุรกิจตกแต่งพื้นผิวกระเบื้องปูพื้นและบุผนัง ผ่านการดำเนินงานต่าง ๆ อาทิ ขยายการลงทุนโรงงานในพื้นที่ภาคใต้ของเวียดนาม เพิ่มยอดขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และขยายช่องทางการจำหน่าย  2) ขยายธุรกิจสุขภัณฑ์ในอาเซียน และขยายการลงทุนโรงงานสุขภัณฑ์ใหม่ในอาเซียน ตั้งเป้ายอดขายสุขภัณฑ์เติบโต 2 เท่า หรือกว่า 10,000 ล้านบาท  3) ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการให้บริการแบบครบวงจร และเพิ่มโอกาสขายสินค้าที่เกี่ยวข้อง และ    4) ลงทุนและเข้าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในธุรกิจหลักของบริษัท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  นอกจากนี้ยังเน้นลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตควบคู่กันไป อาทิ โครงการติดตั้ง Hot Air Generator เพื่อลดต้นทุนพลังงานที่โรงงานในไทยอีก 2 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ และโครงการปรับปรุงสายการผลิตกระเบื้องไวนิล SPC ซึ่งจะเริ่มผลิตสินค้าป้อนตลาดในไทยได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ด้วยกำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี

ธุรกิจเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ พลังงานสะอาดครบวงจร เติบโตต่อเนื่องตามเมกะเทรนด์โลกที่หันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ผนวกกับการสนับสนุนของภาครัฐ ทำให้ตลาดพลังงานสะอาดในประเทศขยายตัวสูง โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 511 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากสิ้นปี 2566 จากความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนจัดทำโครงการซื้อขายไฟฟ้าใหม่ ๆ โดยปีนี้ตั้งเป้ากำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 200 เมกะวัตต์สำหรับการซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชน  ส่วน นวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานสะอาดที่เป็นความร่วมมือกับ Rondo Energy สหรัฐอเมริกา  เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่มีศักยภาพในการทำตลาดในอาเซียน จึงเป็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้าสู่ตลาดอาเซียนในช่วงแรก และจะขยายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ที่เหมาะสมต่อไป ขณะเดียวกัน บริษัทสยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ จำกัด ได้ร่วมมือกับ Rondo Energy พัฒนาการผลิตวัสดุกักเก็บความร้อน (Thermal Media)’ เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นวัสดุหลักสำหรับใช้ในแบตเตอรี่กักเก็บความร้อน (Heat Battery) โดยสามารถขยายกำลังการผลิตวัสดุกักเก็บความร้อน ได้ถึง 12,000 ตันต่อปี ในปลายปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับการขยายธุรกิจแบตเตอรี่กักเก็บความร้อน

นายธรรมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เศรษฐกิจโลกยังเผชิญจากความเสี่ยงจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่เศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นจากการท่องเที่ยว การลงทุนของต่างชาติ การอนุมัติงบประมาณปี 2567 ของภาครัฐที่จะเริ่มเบิกจ่ายในเดือนเมษายน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ เช่น การลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง ลดหย่อนภาษีเงินได้ และปล่อยสินเชื่อให้กู้ซื้อบ้านสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์  และเป็นที่น่ายินดีที่ภาครัฐให้ความสำคัญเรื่องกรีน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเสนอพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในปีนี้  การสนับสนุนโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ให้เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย  หากมีการผลักดันการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) ก็จะเป็นต้นแบบให้องค์กรอื่น ๆ ปฏิบัติตาม ซึ่งจะยิ่งช่วยกระตุ้นแนวคิดเรื่องกรีนให้เป็นรูปธรรม ลดภาวะโลกเดือดได้ รวมทั้งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว”

 

 

 

 

 

 

 

Visitors: 14,181,933