พณ.ชี้ นโยบายรบ.ดิจิทัลจะสำเร็จได้ต้องช่วยกัน แนะเร่งภาครัฐ-สถาบันการเงินเชื่อมข้อมูลระหว่างกัน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
(สนค.) ระบุว่า จากความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับภาครัฐของไทยไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
ซึ่งมีหัวใจสำคัญ คือ มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน มีการทำงานโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
และอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน ซึ่งหลักการดังกล่าวทั้งหมดนี้
สอดรับกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งหวัง ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระบบราชการ
อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์
ปัจจุบัน แม้จะมีการบูรณาการโดยเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานบ้างแล้วก็ตาม
แต่ยังพบว่าหากประชาชนหรือภาคธุรกิจต้องการขออนุญาต หรือทำธุรกรรมประเภทต่าง ๆ จำเป็นต้องไปขอเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานราชการหลายแห่ง
ทำให้ต้องเสียเวลาเดินทางและเสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้
หน่วยงานที่ให้บริการก็จำเป็นต้องผลิตเอกสารในรูปแบบกระดาษ ต้องมีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่เพื่อรองรับการบริการให้เพียงพอ
ทำให้เกิดความล่าช้า บางหน่วยงานอาจจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้บริการ
ซึ่งทำให้กำลังคนภาคราชการในบางหน่วยงานมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น จึงควรมีการปรับปรุงระบบการให้บริการประชาชนด้วย
การนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้หน่วยงานต่าง ๆ
จะมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับการให้บริการประชาชน
ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีความจำเป็นต้องเพิ่มคุณภาพของการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานมากขึ้น
โดยหากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมีข้อมูลที่เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์
ก็จะสามารถยกระดับการให้บริการประชาชนขึ้นไปได้อีกมาก แต่อุปสรรคในการพัฒนาคือ หน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูลอาจไม่ต้องการที่จะเปิดเผยหรือแบ่งปันข้อมูลของตนเองจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล
เกรงว่าหน่วยงานที่ร่วมใช้ข้อมูลจะมีระดับการรักษาความปลอดภัยข้อมูลที่ไม่เพียงพอ และ
mindset ที่จะสูญเสียบทบาทความสำคัญของหน่วยงานหากนำข้อมูลไปให้หน่วยงานอื่นใช้ประโยชน์
หน่วยงานผู้ใช้ข้อมูลยังคงเคยชินกับการตรวจสอบเอกสารในรูปแบบกระดาษ
ซึ่งจะรู้สึกถูกต้องและปลอดภัยมากกว่า
ใช้ระบบการเก็บข้อมูลและรูปแบบของข้อมูลมาตรฐานที่แตกต่างกัน
ทำให้การเชื่อมต่อข้อมูลยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ส่งผลให้การทำงานมีลักษณะทำงานแบบต่างคนต่างทำ
ยังขาดการบูรณาการการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งยังมีช่องว่างสำหรับภาครัฐที่จะสามารถปรับปรุงระบบงานบริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตัวอย่างสำคัญที่จะได้รับประโยชน์จากการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานราชการและ
สถาบันการเงิน ได้แก่ นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน
หรือบริษัทที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์เกือบ 2 ล้านราย
หากนิติบุคคลเหล่านี้ต้องไปติดต่องานกับหน่วยงานราชการอื่น หรือสถาบันการเงินต่าง
ๆ ภายหลังการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจแล้ว โดยที่ผ่านมาต้องมาขอหนังสือรับรองและสำเนาเอกสาร
เพื่อไปแสดงให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในรูปแบบเอกสารกระดาษ
โดยหากมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันอย่างจริงจังภายใต้ความถูกต้องที่กฎหมายกำหนด
จะช่วยอำนวยความสะดวกโดยลดขั้นตอน ลดระยะเวลาให้กับหน่วยงานราชการเจ้าของข้อมูล
หน่วยงานผู้ใช้ข้อมูลและภาคธุรกิจ หรือผู้ประกอบการที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ
รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ภาคเอกชนต้องจ่ายปีละกว่า
750 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อราชการ ตลอดจนสามารถลดการใช้กระดาษกว่า
15 ล้านแผ่นต่อปี ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานของภาครัฐในส่วนการให้บริการประชาชนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายพูนพงษ์ฯ กล่าวต่อว่า แนวทางการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน
ต้องมีองค์ประกอบดังนี้ (1) ปรับเปลี่ยน mindset
ของผู้ถือครองและผู้ใช้ข้อมูลให้เห็นถึงประโยชน์ของการบูรณาการเชื่อมข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานจะได้รับ
(2) การใช้เทคโนโลยีหรือมาตรฐานการเก็บและการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งเป็นที่ยอมรับจะช่วยลดช่องว่างของข้อมูลที่มีความเหลื่อมล้ำ
ช่วยให้เห็นจุดที่ข้อมูลยังมีความขัดแย้งกัน และ (3) ดูแลการรักษาความปลอดภัยข้อมูล
เพื่อสร้างความไว้วางใจในการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
หากหน่วยงานสามารถบรรลุองค์ประกอบที่กล่าวมานี้ รวมถึงความตั้งใจจริงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถเห็นปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากปัญหาที่หน่วยงานของตนเป็นผู้รับผิดชอบ
ซึ่งจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมองเห็นภาพเดียวกัน
และก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่จะนำไปสู่ “การบูรณาการ” เพื่อการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงในที่สุด จึงอยากเสนอให้หน่วยงานภาครัฐ
ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน เร่งเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน
โดยดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ
ซึ่งหากทุกหน่วยงานมีการปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันแล้ว
นอกจากจะช่วยยกระดับการให้บริการ ยังสามารถเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
จากการช่วยให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจถูกลง และเพิ่มระดับการใช้งานด้านดิจิทัลของประเทศไทยมากขึ้นด้วย