“พพ.” ผนึก”สจล”เร่งผลิตผู้ตรวจประเมินการออกแบบอาคารดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
พพ.
จับมือ สจล. เดินหน้าขับเคลื่อนอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เร่งผลิตผู้ตรวจประเมินการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานคาดสามารถรองรับการขยายตัวของอาคารก่อสร้างใหม่
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท
อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และ รองศาสตราจารย์ คมสัน
มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
(สจล.)ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรการตรวจประเมินในการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
ณ อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้กฎกระทรวงการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ Building Energy Code : BEC เพื่อควบคุมอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม
2566 โดยเริ่มบังคับใช้กับอาคารก่อสร้างใหม่หรือปรับปรุงดัดแปลง
ขนาด 2,000 ตร.ม. ขึ้นไป
ต้องออกแบบให้มีการใช้พลังงานในแต่ละส่วนที่กำหนดให้เป็นไปตามเกณฑ์การใช้พลังงานตามมาตรฐานขั้นต่ำและต้องมีผู้รับรองผลการประเมินด้านพลังงานที่ได้รับการรับรองจาก
พพ. เพื่อประกอบการขออนุญาตก่อสร้างอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคาร
โดยปัจจุบันเศรษฐกิจมีการขยายตัวทำให้มีการก่อสร้างอาคารใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น
จึงยังมีความต้องการผู้ตรวจและรับรองการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
พพ. และ สจล.
จึงได้ร่วมกันจัดฝึกอบรมหลักสูตรการตรวจประเมินในการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
ตามประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง
การรับรองผู้ทำหน้าที่ผู้ตรวจประเมินในการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 8
พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยให้ผู้เข้ารับการอบรมมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณของภาครัฐและเร่งผลิตบุคลากรผู้ตรวจและรับรองการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานออกสู่ตลาดแรงงานให้เพียงพอ
ซึ่งการจัดอบรมจะเป็นการนำหลักสูตรมาตรฐานที่ พพ. มีอยู่มาใช้ในการจัดฝึกอบรม
ทั้งนี้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ผ่านหลักสูตรนี้
สามารถมีสิทธิ์เข้ารับการทดสอบโดยใช้ข้อสอบมาตรฐานที่ พพ. กำหนด
ซึ่งหากสอบผ่านจะได้รับวุฒิบัตรจาก พพ. พร้อมที่จะออกสู่ตลาดแรงงงานได้ต่อไป
นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า “จากความร่วมมือนี้
พพ.มั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์กับบุคลากรทุกภาคส่วน
เป็นอย่างมากและเชื่อว่าในอนาคตจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ตรวจประเมินในการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้เพียงพอกับอาคารก่อสร้างใหม่ในแต่ละปี
ประมาณ 1,200 แห่ง
ทั้งนี้หากประเมินจำนวนการสร้างผู้ตรวจประเมินที่จะเกิดขึ้นจากการลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้
คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 180 คน
ปัจจุบันมีผู้ตรวจประเมินที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 749 คน
และรอขึ้นทะเบียนอีก 12 คน” นายวัฒนพงษ์ กล่าว