กองทุนประกัน เปิดออนไลน์ 60 วัน ยื่นทวงหนี้ 'สินมั่นคง' คาดเจ้าหนี้ทะลุ 1 ล้านราย

กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ดำเนินการจัดโครงการแถลงข่าว ความคืบหน้าการชำระบัญชี และเตรียมการให้ประชาชนยื่นคำขอรับชำระหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เพื่อชี้แจงความคืบหน้าในการชำระบัญชีของบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต 7 บริษัท ได้แก่ บจ.สัมพันธ์ประกันภัย, บจ.เอ.พี.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวร์รันส์, บมจ.เจ้าพระยาประกันภัย, บมจ.เอเชียประกันภัย 1950, บมจ.เดอะ วันประกันภัย, บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกัน

 ซึ่งในปัจจุบันกองทุนประกันวินาศภัยมีจำนวนผู้ยื่นคำทวงหนี้ 717,743 คำขอ และมียอดขอรับชำระหนี้จำนวน 58,838,894,357.52 บาท ประกอบกับกระทรวงการคลังมีคำสั่งที่ 1364/2567 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) และคำสั่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยที่ 19/2567 แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยคาดว่าจะมีเจ้าหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชี ประมาณ 8 แสน ถึง 1 ล้าน คำขอ และจะเปิดให้เจ้าหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีผ่านระบบ Online เท่านั้น โดยสามารถยื่นคำทวงหนี้ได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2567 เริ่มเวลา 08.30 นาฬิกา ไปจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2567 สิ้นสุดเวลา 16.30 นาฬิกา ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวจะเปิดระบบให้ยื่นคำทวงหนี้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมระยะเวลาเปิดรับคำทวงหนี้ทั้งสิ้น 60 วัน ผ่านระบบคุ้มครองสิทธิเจ้าหนี้ในกรณีบริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต (Online) ที่ https://rps-sev.gif.or.th โดยสามารถศึกษาวิธีการยื่นคำทวงหนี้ได้จากคู่มือ ขั้นตอนการยื่นคำทวงหนี้ผ่านระบบคุ้มครองสิทธิเจ้าหนี้ในกรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตออนไลน์ที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของกองทุนประกันวินาศภัย ทั้งนี้ ในการยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการชำระบัญชี และเตรียมการให้ประชาชนยื่นคำขอรับชำระหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)ว่า ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2567 เริ่มเวลา 08.30 น. ไปจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2567 สิ้นสุดเวลา 16.30 น. รวมระยะเวลาเปิดรับคำทวงหนี้ทั้งสิ้น 60 วัน จะเปิดให้เจ้าหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ทุกรายยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีผ่านระบบ Online เท่านั้น กปว.ได้เตรียมพร้อม โดยมีการเพิ่มเซิร์ฟเวอร์จาก 4 ตัว เป็น 32 ตัว พร้อมทีมติดตามระบบ 24 ชั่วโมง หากระบบล่มจะแก้ไขได้ทันท่วงที ขณะเดียวกันยังได้เตรียมสายด่วน 1186 อีก 30 คู่สายไว้รองรับด้วย โดยคาดว่าจะมีเจ้าหนี้ใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชี ประมาณ 800,000 ถึง 1 ล้านคำขอ คิดเป็นวงเงินหนี้กว่า 48,000 ล้านบาท มีเจ้าหนี้กว่า 400,000 ราย ที่ไปยื่นคำร้องต่อสภาทนายความ ซึ่ง กปว.สามารถคุมทรัพย์สินมั่นคงประกันภัยได้ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสด 1,400 ล้านบาท เงินสำรองที่วางประกันไว้กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) 600 ล้านบาท รถยนต์ 250 คัน และอสังหาริมทรัพย์ 17 รายการ และกำลังพิจารณาว่าจะเฉลี่ยทรัพย์ด้วยตัวเอง หรือส่งคดีล้มละลายเพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาดำเนินการให้แทน
นายชนะพล กล่าวว่า ขณะนี้ได้จ่ายเงินคืนเจ้าหนี้ 4 บริษัท กลุ่มเดิมไปแล้วกว่า 7,000 ล้านบาท และยังค้างจ่ายกว่า 600,000 ราย มูลหนี้กว่า 48,000 ล้านบาท ของใหม่กรณี สินมั่นคงประกันภัย คาดว่าเจ้าหนี้ ประมาณ 800,000 ถึง 1 ล้านราย ตามข้อมูลหนี้สินไหมทั้งที่เกิดจากโควิด 80% และไม่ใช่โควิด ซึ่งกรมธรรม์ที่ยังคุ้มครองอยู่เกือบ 800,000 กรมธรรม์ มีการยกเลิก ย้ายไปตามบริษัทที่อื่นๆ คาดว่าจะมีจำนวนเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ประมาณ 400,000 ราย มูลหนี้ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท เมื่อรวมของเดิมจำนวนเจ้าหนี้ประมาณ 1.2-1.4 ล้านราย ยอดหนี้รวมประมาณ 80,000 ล้านบาท เมื่อมีการยื่นเอกสารเข้ามาแล้ว กปว.จะการตรวจสอบความถูกต้องเอกสาร คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี
"กปว.หารือกับ คปภ.เพื่อหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง แม้ก่อนหน้านี้ทำแผนหาเงินกู้ 3,000 ล้านบาท เสนอไป คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้หาเงินกู้ ซึ่งระยะเวลาดำเนินการจะสิ้นสุดในสิ้นเดือนนี้ แต่รัฐบาลไม่เข้ามาค้ำประกัน จึงไม่มีธนาคารใดปล่อยกู้ การจ่ายหนี้หมดต้องรอ 80 ปีหรือไม่ กำลังหาทางเร่งแก้ไข ซึ่งกำลังจ้างที่ปรึกษาการเงิน เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการจัดหาแหล่งเงิน รวมถึงการแก้ข้อกฎหมายที่ระบุให้คุ้มครองเจ้าหนี้ประกันสูงสุดถึง 1 ล้านบาทต่อราย"
         นางณปภัช เดชธัญญนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า คปภ. เตรียมความพร้อมสนับสนุนกองทุนประกันวินาศภัย ผ่านระบบสายด่วน คปภ. 1186 ให้คำแนะนำการยื่นคำทวงหนี้ผ่านระบบออนไลน์ มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ 30 คู่สาย และมีเจ้าหน้าที่ คปภ.ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ คอยให้คำแนะนำ ทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์ คปภ.อีกด้วย

        ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า สภาทนายความ ได้รับการร้องขอจากเจ้าหนี้ให้ดำเนินการฟ้องร้อง บริษัทประกันภัย ที่ปิดกิจกการลงถือเป็นหนี้สาธารณะ มองว่ารัฐบาลควรเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง หากแก้ไขปัญหาล่าช้าอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ซึ่งทำให้ความน่าเชื่อถือในระบบประกันภัยลดลง กรณี สินมั่นคงประกันภัย กปว.ได้ทรัพย์มูลค่า 5,000 ล้านบาท หากหาเงินกู้ 15,000 ล้านบาท โดยมีรัฐบาลค้ำประกัน ทำให้ประชาชนได้เงินคืนเร็วขึ้น มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เจ้าหนี้ก็อาจจะยอมลดหนี้บางส่วน สภาทนายความ อยากให้กระบวนการทางกฏหมายเป็นทางออกสุดท้าย

Visitors: 14,099,962