“พิมพ์ภัทรา” หนุน สมอ. เร่งสกัดเหล็กด้อยคุณภาพ หลังบอร์ดไฟเขียวให้ควบคุมเหล็กเคลือบ และกำหนดมาตรฐานเพิ่ม ทะลุกว่า 1,400 เรื่อง
นางสาวพิมพ์ภัทรา
วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า
จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์เหล็กในประเทศอย่างใกล้ชิด พบว่ามีการนำเข้าเหล็กเคลือบ
ทั้งเคลือบสังกะสี อะลูมิเนียม แมกนีเซียม และเคลือบสี
ที่มีราคาถูกจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหล็กที่มีคุณภาพต่ำ และไม่ได้มาตรฐาน
ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน
และสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล็กเคลือบภายในประเทศเป็นอย่างมาก
ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขายสินค้าได้ นอกจากนี้
ยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำเหล็กเคลือบดังกล่าวไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต
ตนจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
เร่งดำเนินการควบคุมเหล็กเคลือบทุกประเภทที่จำหน่ายในท้องตลาดโดยเร็ว
เพื่อสกัดกั้นเหล็กเคลือบที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาในราชอาณาจักร
เพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนและอุตสาหกรรมภายในประเทศ
นายบรรจง
สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า
จากการประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ สมอ.
ควบคุมผลิตภัณฑ์เหล็กจำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่ 1) “เหล็ก
PPGI” หรือ เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนและเคลือบสี
2) “เหล็ก PPGL” หรือ
เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนและเคลือบสี
3) เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม 5% ขึ้นไป และแมกนีเซียม 2% ขึ้นไป
โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน และ 4 ) เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม 0.5%
ขึ้นไป และแมกนีเซียม 0.4% ขึ้นไป โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรฐานอื่น ๆ อีก จำนวน 122
มาตรฐาน เช่น มาตรฐานปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก เครื่องซักผ้า เครื่องสูบของเหลว
เต้ารับเต้าเสียบสำหรับงานอุตสาหกรรม ระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
ระบบบันทึกการขับขี่รถยนต์ น้ำยางข้นธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์จากขยะชีวภาพ
ถั่วลันเตากระป๋อง และมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ รวมทั้ง เห็นชอบมาตรฐานที่
สมอ. จะจัดทำเพิ่มเติมในปีนี้อีกจำนวน 192 มาตรฐาน เช่น
มาตรฐานเครื่องดับเพลิงแบบยกหิ้วชนิดฮาโลคาร์บอน เจลกันยุงนาโน
ชุดทดสอบฟอร์มาลินแบบกระดาษ
และกันชนหรือชิ้นส่วนที่ป้องกันอุปกรณ์ด้านหน้าและด้านหลังยานยนต์ เป็นต้น
รวมเป็นมาตรฐานที่ สมอ. ตั้งเป้าจัดทำในปีนี้ จำนวน 1,450
มาตรฐาน
ด้าน
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า
จากข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. มิได้นิ่งนอนใจ
ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
รวมทั้งได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
เพื่อติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหลังจากที่บอร์ดมีมติเห็นชอบมาตรฐานเหล็กเคลือบทั้ง
4 มาตรฐาน แล้ว สมอ. จะเร่งดำเนินการให้เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็ว
เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนและปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ
ปัจจุบัน
สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานเหล็กจำนวน 213 มาตรฐาน เป็นสินค้าควบคุมจำนวน 22 มาตรฐาน และเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจจำนวน
191 มาตรฐาน นอกจากการดูแลประชาชนและอุตสาหกรรมในประเทศแล้ว
ด้านการค้าระหว่างประเทศ สมอ.
ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะทำงานด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า
ภายใต้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการส่งออกเหล็กของไทยได้ทราบถึงความคืบหน้าของมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน
หรือ “มาตรการ CBAM” (Carbon Border Adjustment
Mechanism) ซึ่งเป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมจาก ผู้นำเข้าสินค้าที่เข้ามาใน EU โดยอ้างอิงตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า สำหรับสินค้า 6
กลุ่มแรกที่มีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูงในกระบวนการผลิต ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า
ซีเมนต์ ปุ๋ย อลูมิเนียม ไฟฟ้าและไฮโดรเจน โดยในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน
ผู้นำเข้ามีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลปริมาณสินค้าที่นำเข้าและการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต
และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป
จะเริ่มบังคับให้ผู้นำเข้าต้องรายงานตามปริมาณจริงของการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต
ทั้งนี้ สมอ. อยู่ระหว่างการหารือกับผู้แทน EU
เพื่อให้ยอมรับรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่ออกโดยหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก
ซึ่ง สมอ. จะแจ้งความคืบหน้าของการหารือดังกล่าวให้ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะ
เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าวต่อไป เลขาธิการ สมอ. กล่าว