พาณิชย์เยียวยาภาคธุรกิจหลังน้ำลดใน 3 จังหวัดภาคเหนือและพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบอุทกภัย ‘ยืดเวลาทำธุรกรรมทางนิติบุคคล’ พร้อมจับมือก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เร่งเยียวยานิติบุคคลในจังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน และจังหวัดอื่นๆ ที่ประสบภัยน้ำท่วม
ให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ไม่สะดุด ด้วยการออกมาตรการช่วยขยายเวลาดำเนินการจดทะเบียนของนิติบุคคล การแจ้งบัญชีและเอกสารสูญหาย
รวมถึงการนำส่งงบการเงิน โดยสามารถชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและหลักฐานที่แสดงว่าได้รับผลกระทบการประสบภัยให้เจ้าหน้าที่พิจารณาหลังสถานการณ์อุทกภัยสิ้นสุดลง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “จากสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน ดินสไลด์
และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน
ได้สร้างความเสียหายแก่นิติบุคคลและประชาชนในพื้นที่ประสบภัยเป็นอย่างมาก โดย นายพิชัย
นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายนภินทร ศรีสรรพางค์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์
เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
รวมถึงการเยียวยาภาคธุรกิจซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอย่างเร่งด่วน โดยนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตประสบภัยพิบัติ
ไม่สามารถเดินทางมาดำเนินการจดทะเบียน หรือนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
หรือดำเนินการอื่นใดต่อสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดในช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัย
รวมถึงเอกสารสูญหาย เสียหายจากภัยพิบัติดังกล่าว
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ได้ออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสบเหตุฯ
และได้รับผลกระทบใน 3 จังหวัดภาคเหนือ รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ
เพิ่มเติม โดยมีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ ดังนี้
1. นิติบุคคลผู้ประสบอุทกภัยซึ่งมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตที่ประสบเหตุ
สามารถขอขยายเวลาและชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและหลักฐานที่แสดงว่าได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย
ทำให้ไม่อาจดำเนินการยื่นจดทะเบียน ยื่นงบการเงิน
ยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) รวมถึงการแจ้งบัญชีหรือเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหายที่ต้องแจ้งต่อสารวัตรบัญชี
ภายในระยะเวลาที่กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมกำหนดได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณาขยายเวลาในการยื่นเอกสารหรือดำเนินการตามกฎหมายของนิติบุคคล
ทั้งนี้ นิติบุคคลสามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาหรือดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อเจ้าหน้าที่ภายใน
15 วัน นับแต่วันที่สถานการณ์อุทกภัยได้สิ้นสุดลง
2.
กรณีนิติบุคคลใดได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประสบอุทกภัย สามารถชี้แจงเหตุผล ความจำเป็น
และหลักฐานที่แสดงว่าได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยทำให้ไม่อาจดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมกำหนดได้
เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณายุติเรื่องและไม่ออกคำสั่งปรับเป็นพินัยตามกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย
อธิบดีอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการพัฒนาระบบจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการด้านต่างๆ
โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาอำนวยความสะดวก ข้อมูลมีความถูกต้อง
รวดเร็ว และทันสมัย เพื่อเพิ่มช่องทางและลดอุปสรรคให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับบริการอย่างเต็มรูปแบบ
ไม่จำกัดเวลา และสถานที่ โดยกรมมีความมุ่งหมายให้ช่องทางออนไลน์ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจและช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้
กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องการติดต่อกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ประสบเหตุอุทกภัย
แต่ไม่สามารถเดินทางได้
สามารถดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้
ข้อมูลจาก DBD Datawarehouse+ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 ภาคเหนือ (17 จังหวัด)
มีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 80,758 ราย ทุนจดทะเบียน 519,310.31
ล้านบาท แบ่งเป็น * เชียงราย 9,012 ราย ทุน
49,900.38 ล้านบาท * แพร่ 1,922 ราย ทุน 8,386.49 ล้านบาท * น่าน 2,064 ราย
ทุน 5,602.44 ล้านบาท * กำแพงเพชร 2,898 ราย
ทุน 18,307.19 ล้านบาท * เชียงใหม่ 30,595 ราย ทุน 210,512.10 ล้านบาท * ตาก 2,937 ราย ทุน 13,626.11 ล้านบาท * นครสวรรค์
5,140 ราย ทุน 46,850.71 ล้านบาท * พะเยา 2,219 ราย ทุน 6,028.83 ล้านบาท * พิจิตร 2,131 ราย ทุน
13,623.54 ล้านบาท * พิษณุโลก 5,367 ราย ทุน 22,654 ล้านบาท * เพชรบูรณ์ 3,294 ราย ทุน 20,245.26 ล้านบาท *
แม่ฮ่องสอน 745 ราย ทุน 1,674.14 ล้านบาท * สุโขทัย 1,782 ราย ทุน 18,775.22 ล้านบาท * อุตรดิตถ์ 1,732 ราย ทุน
13,875.25 ล้านบาท * ลำปาง 4,319 ราย ทุน 19,342.75 ล้านบาท * ลำพูน 3,548
ราย ทุน 41,993.28 ล้านบาท และ * อุทัยธานี 1,053 ราย ทุน 7,912.61 ล้านบาท
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ความสำคัญต่อแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่กำลังประสบเหตุอุทกภัยให้สามารถชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและหลักฐานที่แสดงว่าได้รับผลกระทบจากเหตุทำให้ไม่อาจดำเนินการในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดได้
รวมถึงสามารถใช้ช่องทางออนไลน์เป็นส่วนช่วยให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจต่อไปได้ด้วยความมั่นใจ
ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่ประสบเหตุอุทกภัยครั้งนี้ทุกท่าน
และพร้อมจับมือก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย
#SuperDBD
#กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
#กระทรวงพาณิชย์