บีเจซี เผยผลประกอบการไตรมาส 3/67 ดันรายได้รวมเติบโตทะลุ 41,774 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานปกติเติบโตกว่า 14.2%

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยรายได้รวมในไตรมาส 3/67 เท่ากับ 41,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 603 ล้านบาทจากปีก่อน กำไรจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 2,825 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 14.2% ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิปกติเติบโตขึ้นอยู่ที่ 905 ล้านบาท เติบโต 34.8% จากยอดขายที่เติบโตขึ้น และความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นของทุกกลุ่มสินค้าและบริการ รวมไปถึงการจัดทำโครงการลดต้นทุนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ จากยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 5,876 ล้านบาท ลดลง 205 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้วมียอดขายที่ลดลงเล็กน้อยจากการปรับราคาลงตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง หลัก ๆ จากราคาโซดาแอชที่ลดลง ในขณะที่กลุ่มบรรจุภัณฑ์กระป๋องมียอดขายที่ลดลงจากธุรกิจในประเทศเวียดนาม จากผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมและการบริโภคที่ชะลอตัวลง อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ร้อยละ 22.0 เพิ่มขึ้น 220 bps จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มาจากทั้งกลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้วและบรรจุภัณฑ์กระป๋อง จากราคาวัตถุดิบที่ลดลง ทั้งโซดาแอชและเศษแก้ว และการบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีเงินได้ปกติของกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ร้อยละ 16.3 เพิ่มขึ้น 210 bps จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น กำไรสุทธิปกติสำหรับผู้ถือหุ้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 563 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.6 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค จากยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภคในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 5,311 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 เมื่อเปรียบเทียบ กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภค โดยยอดขายในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ส่วนตัวเติบโตจากสบู่แพรอท สินค้าใหม่ (ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม แบรนด์ Promise) และยอดขายสินค้า OEM นอกจากนี้ ยอดขายในกลุ่มสินค้ากระดาษของแบรนด์บริษัท (owned brand) เพิ่มขึ้นเช่นกัน อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภคในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ร้อยละ 19.4 เพิ่มขึ้น 92 bps จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภค จากการขายสินค้าที่มี Margin สูงกว่าได้มากขึ้น (Product mix) ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีเงินได้ปกติในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ร้อยละ 7.5 เพิ่มขึ้น 170 bps จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น กำไรสุทธิปกติสำหรับผู้ถือหุ้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภคในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 297 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค ยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิคในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 2,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.0 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายกลุ่มเวชภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น จากการออกสินค้าใหม่ และยอดขายกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่เพิ่มขึ้นจาก งบประมาณภาครัฐที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิคในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ร้อยละ 31.3 เพิ่มขึ้น 162 bps จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการขายสินค้าที่มี Margin สูงกว่าได้มากขึ้น (Product mix) ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีเงินได้ปกติไตรมาส 3/67 อยู่ที่ร้อยละ 13.8 เพิ่มขึ้น 150 bps จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน กำไรสุทธิปกติสำหรับผู้ถือหุ้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิคในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 18.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น

กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ จากรายได้รวมในกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 28,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 769 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้จากการขายสินค้าเท่ากับ 25,388 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 777 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การเติบโตของยอดขายต่อสาขาเดิมในไตรมาสอยู่ที่ร้อยละ 0.02 (ไม่รวมยอดขายสินค้าบีทูบี) ซึ่งรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในหมวดอาหาร สด (Fresh Food) และรายได้อื่นอยู่ที่ 3,160 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยที่ 25 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้ค่าเช่าและการให้บริการ โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ค่าเช่าที่ลดลง อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ร้อยละ 17.5 เพิ่มขึ้น 14 bps เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักจาก Sales mix การบริหารจัดการสต๊อกสินค้าที่ดี และการลดลงของต้นทุนค่าขนส่ง ขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายปกติ (EBITDA margin) ในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ร้อยละ 11.0 เพิ่มขึ้น 10 bps เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นและต้นทุนการขนส่งที่ลดลง กำไรสุทธิปกติสำหรับผู้ถือหุ้นของกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ในไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 715 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.9 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3/67 โดยได้เปิดบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต ในจังหวัดยะลาภาคใต้ ของประเทศไทยจำนวน 1 สาขา บิ๊กซี มินิจำนวน 11 สาขา (รวมบิ๊กซี มินิจำนวน 1 สาขาในประเทศกัมพูชา) ร้านขายยาเพรียวจำนวน 4 สาขา และร้าน หนังสือเอเซียบุ๊คส์จำนวน 3 สาขาในระหว่างไตรมาส และมีการปิดบิ๊กซิ ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่กำลังจะหมดสัญญาเช่าจำนวน 2 สาขา ได้แก่ บิ๊กซี สุขาภิบาล 3-2 และบิ๊กซี รังสิต 2 โดยหลังจากการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว บริษัทได้ตัดสินใจที่จะไม่ต่อสัญญาเช่าของร้านค้าสาขาดังกล่าว เนื่องจากบริษัทมี สาขาอื่นในพื้นที่ใกล้เคียงที่สามารถรองรับลูกค้าได้อย่างเพียงพอ และบริษัทได้ปรับเปลี่ยนบิ๊กซี ฟู้ดเพลสจำนวน 1 สาขาที่ตึกสำนักงานใหญ่บีเจซี เป็นบิ๊กซี มินิ ในรูปแบบแนวคิดใหม่เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีอายุน้อย

 

กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี มุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจอย่างมั่นคง ด้วยวิสัยทัศขององค์กรที่ตั้งเป้าหมาย เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือ เพื่อร่วมสร้างให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน เตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์เพื่อเติบโตต่อไปอย่างแข็งแกร่ง

Visitors: 14,157,910