โลกมีแนวโน้มเผชิญความตึงเครียดทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ด้านเศรษฐกิจไทยวิจัยกรุงศรีคาดว่าจะขยายตัว 2.7% ในปีนี้ และ 2.9% ในปี 2568

สหรัฐฯ เตรียมเก็บภาษีนำเข้าจากหลายประเทศ ขณะที่เฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ยในปีหน้า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับการนำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกและจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 10% ในวันแรกที่รับตำแหน่ง (20 มกราคม 2568) เพื่อตอบโต้ปัญหาผู้อพยพและการค้ายาเสพติด นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้คำนวณภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (dumping duties) 21.31- 271.2% สำหรับเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่นำเข้าจากกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม โดยจะตัดสินครั้งสุดท้ายวันที่ 18 เมษายน 2568 และคาดว่าจะประกาศคำสั่งในวันที่ 9 มิถุนายน ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ทรัมป์ขู่ว่าจะขึ้นภาษี 100% ต่อสินค้านำเข้าทั้งหมดจากกลุ่มประเทศ BRICS 9 ประเทศ หากสนับสนุนสกุลเงินอื่นใดเพื่อทดแทนดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดในไตรมาส 3 ขยายตัว 2.8% QoQ annualized จาก 3.0% ในไตรมาส 2 โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการส่งออก ขณะที่ในเดือนตุลาคม อัตราเงินเฟ้อ PCE ทั่วไปอยู่ที่ 2.3% YoY ส่วนอัตราเงินเฟ้อ PCE พื้นฐานอยู่ที่ 2.8% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ 2.1% และ 2.7% ตามลำดับ

แม้ว่าตลาดประเมินความเป็นไปได้กว่า 66% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมลง 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% แต่ความเป็นไปได้ของการปรับลดที่ต่อเนื่องในปี 2568 ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก (i) เศรษฐกิจสหรัฐฯที่แม้ชะลอตัวแต่ยังคงมีเสถียรภาพ (soft-landing) (ii) ผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ที่ยังไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ (+4.4% YTD) ที่คาดว่าจะช่วยลดผลกระทบของราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นจากผลของมาตรการภาษี ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยแท้จริง (real interest rate) ที่ยังอยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยที่เปิดทางให้เฟดยังสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อได้

สำหรับนโยบายด้านการค้า หากทรัมป์เก็บภาษีจีน 60% และเก็บจากประเทศอื่นๆ 20% รวมทั้งจีนตอบโต้กลับด้วยการเก็บภาษี 60% จากสินค้าสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม วิจัยกรุงศรีคาด GDP โลกจะหายไป -0.17% ถึง -0.28%

 

ภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเติบโตต่อเนื่อง ธปท. รายงานเศรษฐกิจเดือนตุลาคมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ (+2.8% MoM sa) การบริโภคภาคเอกชน (+0.8%) ด้านการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น (+4.5%) จากทั้งการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง สอดคล้องกับการขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่การส่งออกสินค้าแม้ขยายตัวสูงถึง 14.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (%YoY) แต่หากไม่รวมทองคำและปรับฤดูกาลออกแล้วพบว่าค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อน (-0.1%)
ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวในระดับต่ำ (+0.9%)

วิจัยกรุงศรีประเมินเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.0% YoY เร่งขึ้นจาก 3.0% ในไตรมาสที่ 3 ปัจจัยหนุนสำคัญมาจาก (i) การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน (ii) การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ เช่น การแจกเงิน 10,000 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบางกว่า 14 ล้านคน รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ (iii) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4 ที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ 9.5 ล้านคน จาก 8.6 ล้านคนในไตรมาสก่อน และ (iv) ฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน  ล่าสุดวิจัยกรุงศรีได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2567 เป็น 2.7% จากเดิมที่คาดไว้ 2.4%

 สำหรับในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจจะปรับดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 2.9% โดยมีแรงส่งสำคัญจากการใช้จ่ายภาครัฐที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังเบิกจ่ายล่าช้าในปีงบฯ 2567 การเร่งลงทุนของภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงและความท้าทายจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม อาทิ ความตึงเครียดทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การทะลักเข้าของสินค้านำเข้าจากจีน ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงซึ่งจะยังคงกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม

Visitors: 14,167,688