กสิกรไทยเปิดแผนธุรกิจปี 68 มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ขับเคลื่อนการเติบโตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการให้บริการลูกค้า
·
ยืนยันความมุ่งมั่นสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
พร้อมใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนการเติบโต เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการให้บริการลูกค้า
นําเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงจุด ตอกย้ำการเป็นธนาคารที่ได้รับความไว้วางใจเสมอมา
·
ให้ความสําคัญกับการเติบโตสินเชื่อที่มีคุณภาพ
มีผลิตภัณฑ์และบริการการลงทุนและการชำระเงินที่ครอบคลุม บุกเบิกการสร้างรายได้ใหม่
และเสริมความแข็งแกร่งในฐานะผู้ให้บริการธนาคารดิจิทัลอันดับ 1 ของประเทศไทย
·
ตั้งเป้าหมายเติบโตรายได้
และสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ตลอดจนเพิ่มผลิตภาพ (Productivity)
จากการดำเนินงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่มีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
(ROE) เป็นตัวเลขสองหลักสอดคล้องตามมาตรฐานโลก ภายในปี 2569
พร้อมการผลักดันให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเติบโตอย่างมั่นคงไปด้วยกัน
ธนาคารกสิกรไทย เผยแผนการดำเนินงานและเป้าหมายทางธุรกิจปี
2568 มุ่งสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย พร้อมใช้เทคโนโลยีเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
และการให้บริการลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงจุด ตอกย้ำการเป็นธนาคารที่ได้รับความไว้วางใจเสมอมา
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตลอดปี
2568
“ธนาคารจะมุ่งยกระดับการให้บริการลูกค้า ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
(AI) มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
เพื่อขับเคลื่อนองค์กร รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ บุกเบิกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งการยกระดับประสบการณ์โดยรวมของลูกค้าที่มีต่อธนาคารให้ดียิ่งขึ้น"
กลยุทธ์ของธนาคารจะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ
สอดคล้องกับการคาดการณ์ต่อปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ
ตลอดจนความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น โดยธนาคารได้กําหนดเป้าหมายทางการเงินสําหรับปี 2568 ดังนี้
การเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อที่มีคุณภาพ ในภาคธุรกิจที่มีการฟื้นตัว
และสินเชื่อที่มีหลักประกัน ให้ความสำคัญกับคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยการปรับปรุงกลยุทธ์สินเชื่อ
ฟื้นฟูขีดความสามารถหลัก และปรับปรุงการจัดการทั้งกระบวนการ ตั้งเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อในปี
2568 ในระดับทรงตัว
· ผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin: NIM) 3.3-3.5% สอดคล้องกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและการเติบโตของสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ โดยผลตอบแทน
NIM เมื่อหัก Credit Cost แล้ว
จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
· การเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ(Net Fee Income Growth) Mid to
High-single Digit โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตเชิงกลยุทธ์ในการให้บริการโซลูชันด้านการลงทุน
แม้รายได้ค่าธรรมเนียมการทําธุรกรรมทั่วไปจะลดลงเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
· ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ
(Cost to Income Ratio) คาดว่าจะอยู่ที่ Low to Mid-40s
· เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio - Gross) น้อยกว่า 3.25% ค่อนข้างทรงตัวท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
· อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Credit Cost) คาดว่าจะปรับตัวสู่ระดับปกติ
(Normalized Level) ในช่วง140-160 bps
โดยธนาคารยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่รอบคอบอย่างต่อเนื่อง
พร้อมรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต
นางสาวขัตติยา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี
2568
คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย โดยจะเติบโตประมาณ
2.4% การบริโภคและการส่งออกภาคเอกชนจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจ
แม้ว่าจะมีการเติบโตน้อยลง และการใช้จ่ายของรัฐบาลจะสูงขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ
ได้แก่ หนี้ครัวเรือนที่สูง ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น และภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง
ท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจดังกล่าว ธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการเป็นธนาคารที่ไว้วางใจได้และส่งมอบการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่ลูกค้า
เร่งพัฒนาเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่องค์กร ควบคู่กับการดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ตามยุทธศาสตร์
3+1
และ Productivity
ยุทธศาสตร์ 3+1 และ Productivity ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ที่ทำต่อเนื่องจากปี
2567 ได้แก่ ยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน คือ
การยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านสินเชื่อ การขยายธุรกิจที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียม
การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่องทางต่าง ๆ
และ 'บวกหนึ่ง' คือการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ในระยะกลางและระยะยาว
โดยสิ่งที่ธนาคารเน้นเพิ่มขึ้นในปี 2568 นี้ คือ ยุทธศาสตร์ Productivity
เพื่อเพิ่มผลิตภาพจากการดำเนินงานให้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในปี 2568 ธนาคารจะยังมุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงและปัญญาประดิษฐ์
(AI)
เพื่อสามารถสนับสนุนลูกค้ากว่า 24 ล้านราย ให้บรรลุศักยภาพสูงสุด
ธนาคารกสิกรไทยได้จัดลำดับความสําคัญเชิงกลยุทธ์
3+1
และ Productivity ขับเคลื่อนการทำงานสู่เป้าหมาย
ดังนี้
ยุทธศาสตร์หลักที่ 1 ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านสินเชื่อ ด้วยการมุ่งเน้นการเติบโตที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เน้นการให้บริการลูกค้าปัจจุบันที่มีคุณภาพ
ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการที่ปรับให้เหมาะกับลูกค้า
และใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
และปรับการจัดการทั้งกระบวนการ เพื่อยกระดับศักยภาพด้านสินเชื่อ โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อใหม่มากกว่า 90% มาจากสินเชื่อที่มีหลักประกันและจากลูกค้าปัจจุบันที่ธนาคารรู้จักอย่างดี
ในปี 2568 ธนาคารจะยังคงให้ความสําคัญกับการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ รวมทั้งจะกลับมาเปิดโครงการสนับสนุนและให้ความรู้เอสเอ็มอี
เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของลูกค้า
ยุทธศาสตร์หลักที่ 2 ขยายธุรกิจรายได้ค่าธรรมเนียม ด้วยการให้บริการโซลูชันการลงทุนและการชําระเงิน
ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าผ่านช่องทางที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม
กลุ่มธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่ง
(Wealth
Business) ธนาคารมุ่งเน้นส่งเสริมบริการด้านการลงทุน และการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนที่เป็นที่ไว้วางใจ
(Trusted Advisor) อย่างต่อเนื่อง ด้วยโซลูชันการลงทุนที่หลากหลาย
ผ่านการให้คําปรึกษาจัดพอร์ตการลงทุนแบบ "Core & Satellite" ใช้ความแข็งแกร่งจากพันธมิตรระดับโลก และความเชี่ยวชาญในประเทศ ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้
ด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน และการให้บริการการลงทุนที่สะดวกสบายผ่านแพลตฟอร์ม K
PLUS รวมทั้ง บริการ
'Better Finance for Better Life' บน K PLUS ที่รวมการบริหารพอร์ตการเงินและการติดตามการใช้จ่ายให้แก่ลูกค้า
โดยในปี 2568 ธนาคารจะยังคงนําเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างครอบคลุม
ขยายและยกระดับผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ซับซ้อนผ่านประสบการณ์ดิจิทัล (Digital
Experience) ควบคู่ไปกับการเสริมความแข็งแกร่ง และการเป็นศูนย์กลางความรู้ผ่าน
K-Wealth ต่อยอดความเป็นอันดับหนึ่งด้านกองทุนของ บลจ.
กสิกรไทยอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มธุรกิจการชําระเงิน (Payment
Business) ธนาคารมีบริการชำระเงินที่หลากหลาย
โดยมี K
PLUS เป็นจุดเชื่อมต่อบริการ ซึ่งปัจจุบัน
จำนวนธุรกรรมออนไลน์ในประเทศไทย 1 ใน 3 ทำผ่าน K PLUS อีกทั้ง
ธนาคารมีบริการเด่น อาทิ การให้บริการโอนเงินข้ามประเทศ (Remittance) ที่สามารถโอนเงิน 25 สกุลเงิน ใน 150 ประเทศทั่วโลก
การเชื่อมต่อกับบริการชำระเงินด้วย QR Payment ระหว่างประเทศผ่าน
Alipay+ และ WeChat
การแลกเงินผ่านตู้ ATM และ FX
Booth ครอบคลุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ การบริการ K PLUS Go Inter บริการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในที่เดียว ในปี 2568 ธนาคารจะยังคงพัฒนาบริการชําระเงินโดยมี
K PLUS เป็นแพลตฟอร์มหลัก ควบคู่ไปกับการขยายเข้าไปรองรับระบบนิเวศในธุรกิจร้านค้า
เพื่อให้รับชำระเงินได้หลากหลาย
ยุทธศาสตร์หลักที่
3 เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่องทางต่าง ๆ ธนาคารมุ่งส่งมอบประสบการณ์ของลูกค้าในการใช้งานในช่องทางต่างๆ
โดยเน้นผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ด้วย K PLUS ที่มาพร้อมความปลอดภัย
สะดวก ตลอด Journey ของลูกค้า ตั้งเป้า ปี 2568 เพิ่มจํานวนผู้ใช้ K PLUS จาก 23.1 ล้านคนเป็น 23.9 ล้านคน รวมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชัน
K BIZ ให้ใช้งานง่ายยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่หลากหลาย
โดยตั้งเป้าผู้ใช้งาน K BIZ จาก 1.2 ล้านคนเป็น
2.1 ล้านคน ในปี 2568 ธนาคารจะยังคงตอกย้ำความเป็นผู้นําด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง
ด้วยประสบการณ์ดิจิทัลเฟิสต์ โดย K PLUS ครองความเป็นอันดับ 1
ด้านการใช้งาน และอันดับ1 ด้านความพึงพอใจและความผูกพันกับแบรนด์
(Net Promoter Score: NPS) ในกลุ่มธุรกิจธนาคารในประเทศ และบริการ
Contact Center ได้รับคะแนนความพึงพอใจอันดับ 1(Net Promoter Score: NPS) ทั้งการให้บริการผ่านช่องทางโทรศัพท์
รวมทั้งการให้บริการแบบครบวงจรผ่าน KBank Live และสื่อโซเซียลมีเดียต่างๆ
จากผลสำรวจของบริษัท นีลเส็นไอคิว (NielsenIQ) บริษัทวิจัยผู้บริโภคชั้นนำของโลก
ธนาคารยังวางรากฐาน
ยุทธศาสตร์ +1 เพื่อสร้างรายได้ใหม่ในระยะกลางและระยะยาว ได้แก่
การดำเนินงานของ บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด (KIV) ให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย
ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรในระบบนิเวศ ควบคู่กับการให้ความสําคัญกับคุณภาพสินทรัพย์
สําหรับการขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค ธนาคารให้ความสําคัญกับภูมิภาค AEC+3 โดยเฉพาะการเติบโตในตลาดที่มีศักยภาพ ในประเทศจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย นอกจากนี้
ธนาคารยังได้ยกระดับการให้บริการทางการเงินด้วยนวัตกรรมผ่านการทำงานในระบบนิเวศและการสร้างนวัตกรรม
ด้วยการเปิดตัว 4 ใบอนุญาตในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งธนาคารยังสนับสนุนการขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ผ่านการจัดตั้งบริษัท คอปฟิฟตี้ จำกัด (KOP50) บริษัทโฮลดิ้งภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร
เพื่อริเริ่มโครงการสร้าง Sustainable Ecosystem ที่สมบูรณ์ มีนวัตกรรมใหม่ ๆ จาก กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป รวมทั้ง
ระหว่างปี 2565-2567 ธนาคารได้ส่งมอบเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุนด้านความยั่งยืนจำนวนกว่า 1.2 แสนล้านบาท
ยุทธศาสตร์ด้าน
Productivity ธนาคารมุ่งเน้นที่จะยกระดับนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารและจัดการภายในองค์กร
(Productivity) ผ่านการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการทำงาน อาทิ
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเพิ่มศักยภาพของพนักงาน (Human
Intelligence) เพื่อสร้างให้เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และเกิดการทำงานที่มีประสิทธิผลสูงสุด
นางสาวขัตติยา
กล่าวตอนท้ายว่า ธนาคารกสิกรไทยดำเนินธุรกิจและร่วมผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมาเป็นเวลา
80 ปี บนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ
ทำให้ธนาคารมีความยืดหยุ่น สามารถขับเคลื่อนผ่านความไม่แน่นอนและความท้าทายต่าง ๆ
ได้ และเป็นธนาคารที่ไว้วางใจได้สําหรับลูกค้าเสมอมา ส่งเสริมให้ลูกค้าสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุด
ผ่านนวัตกรรมและการนําเสนอโซลูชันทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ จนเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้า
ซึ่งพิสูจน์ได้จากความเป็นผู้นําในด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง