พีเอฟพี ร่วมจัดแสดง “ลูกชิ้นปลา ฮับดะฮ.” เสริมคุณค่าด้วยเมล็ดเทียนดำในนิทรรศการฮาลาล เทิดพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 10

กลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี ได้รับเกียรติจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรม “ลูกชิ้นปลา ฮับดะฮ.” (Habdah Fish Ball) ลูกชิ้นปลาเสริมคุณค่าด้วย เมล็ดเทียนดำ (Black Cumin) ภายในนิทรรศการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมฮาลาล ภายใต้แนวคิด Halal Blockchain: นวัตกรรมเพื่อความโปร่งใสและความมั่นใจในมาตรฐานฮาลาล ซึ่งจัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮิจเราะห์ศักราช 1446 ระหว่างวันที่ 18–20 เมษายน 2568  ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร

งานในครั้งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงาน และทรงเยี่ยมชมนิทรรศการในวันที่ 18 เมษายน 2568 ที่ผ่านมาโดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ถวายรายงานต่อเบื้องพระยุคลบาท

ในโอกาสอันเป็นเกียรติยิ่งนี้ นายณัฐภัทร โพธิสัตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากระบวนการภายในองค์กร บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด ได้เข้าร่วมงานในฐานะผู้แทน กลุ่ม บริษัท พี.เอฟ.พี เพื่อแสดงถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาคเอกชนและศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ในการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมอาหารฮาลาลของประเทศไทย

ผลิตภัณฑ์ “ลูกชิ้นปลา ฮับดะฮ.” ของพีเอฟพี เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ผสานคุณประโยชน์จากเนื้อปลาทะเลคุณภาพสูงเข้ากับ เมล็ดเทียนดำเมล็ดพันธุ์ดี ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ โดยเมล็ดเทียนดำอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ กรดไขมันดี วิตามินบี ธาตุเหล็ก และคุณสมบัติทางชีวภาพที่มีส่วนช่วยในการเสริมภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบ และสนับสนุนการทำงานของระบบย่อยอาหาร ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนาภายใต้ระบบควบคุมคุณภาพ HAL-Q และผ่านการตรวจสอบย้อนกลับด้วยระบบ Halal Blockchain เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างความมั่นใจในมาตรฐานฮาลาล

การเข้าร่วมงานในครั้งนี้สะท้อนถึงพันธกิจของ กลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี ในการยกระดับนวัตกรรมอาหารฮาลาลของไทยให้ก้าวไกลสู่เวทีสากล พร้อมส่งเสริมสุขภาพและความยั่งยืนแก่สังคมมุสลิมและผู้บริโภคทั่วโลก 

Visitors: 14,312,717